กรมชลฯยันปีนี้ 4 เขื่อนลุ่มเจ้าพระยามีน้ำพอปลูกข้าว

กรมชลประทานมั่นใจ 4 เขื่อนหลักจัดสรรน้ำทั้งปีเพียงพอ จับตาหลังสงกรานต์เจอฝนทิ้งช่วง มิ.ย.-ก.ค. ย้ำเกษตรกรอย่าปลูกเกินแผน อธิบดีกรมการข้าวไม่หวั่นลุ่มเจ้าพระยาปลูกเกินแผนเพียงเล็กน้อย ผลผลิตข้าวส่งสัญญาณราคาดี 2 มี.ค.นี้เตรียมรายงานที่ประชุม นบข.

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า แผนการจัดสรรน้ำเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ช่วงฤดูแล้งอยู่ในเกณฑ์ดีมีปริมาณน้ำใช้การได้ 14,187 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 78 เทียบปี 2559 ที่มีน้ำใช้การได้เพียง 9,704 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ปริมาณน้ำใช้การทั้งประเทศ 40,356 ล้าน

ลบ.ม. สำหรับการจัดสรรน้ำถึง 30 เม.ย.ในปริมาณ 25,067 ล้าน ลบ.ม. และคาดการณ์ปริมาณน้ำลุ่มเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ 7,862 ล้าน ลบ.ม. โดยแบ่งเป็นน้ำอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศ 18 ล้าน ลบ.ม./วัน ส่วนตอนบนของลุ่มเจ้าพระยาใหญ่ ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ขึ้นไป แบ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ พื้นที่ 0.383 ล้านไร่ จะเริ่มส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 1 ตั้งแต่ 1 เม.ย.นี้ และจะเริ่มเพาะปลูกเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเข้าสู่ฤดูฝน โดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก ประกอบกับล่าสุดปีนี้พื้นที่ลุ่มต่ำ 1.8 ล้านไร่ หรือบางระกำโมเดลสามารถขยายพื้นที่รับน้ำได้เพิ่ม 550 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ 1.15 ล้านไร่ ส่งผลให้ปริมาณน้ำช่วงฤดูแล้งสามารถใช้การได้อย่างเพียงพอจนถึงฤดูกาลถัดไปจากน้ำต้นทุน 76% ที่ใช้สนับสนุนภาคการเกษตรวันที่เริ่มต้นฤดูแล้ง รวมทั้งประเทศจัดสรรไว้ 15,952 ล้าน ลบ.ม. วางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไว้ ได้แก่ ข้าว 8.3 ล้านไร่ พืชไร่ 4.8 แสนไร่ พืชผัก 2.2 แสนไร่ พืชอื่น ๆ 4.6 ล้านไร่ รวมทั้งสิ้น 13 ล้านไร่ เพียงพอและอยู่ในเกณฑ์ดี มีเพียงข้าวยังปลูกเกินแผนในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา

ปัจจุบันในเขตพื้นที่ชลประทานยังไม่พบปัญหาการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากกรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคไว้อย่างชัดเจนตลอดช่วงฤดูแล้งต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2561 แต่คาดการณ์มีจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษว่าจะประสบภัยแล้งในพื้นที่เกษตรเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอต่อการทำนาปรัง และพืชไร่ตายได้ และผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของไม้ผล ไม้ยืนต้น ผลผลิตลดลง ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา เพชรบุรี และน่าน

ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์ปริมาณฝนและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดี และมีปริมาณมากกว่าปี 2559 และปี 2558 ที่เกิดวิกฤตภัยแล้ง และจากการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงพบว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงประมาณ 0.23 ล้านไร่ ทำให้คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ภัยแล้งปี 2560/2561 ไม่รุนแรง แต่ยังคงมีบางพื้นที่ที่อาจจะประสบปัญหาภัยแล้งระดับปานกลางประมาณ 3.6 ล้านไร่ ร้อยละ 5 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด ซึ่งต้องติดตามเฝ้าระวัง รวมทั้งพื้นที่นอกเขตชลประทาน มีพื้นที่ต้องเฝ้าระวังการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร จำนวน 23 จังหวัด 74 อำเภอ อย่างไรก็ตาม เดือน ก.พ.-เม.ย.ไทยต้องเฝ้าระวังเอลนิโญ-ลานิญา โดยปรากฏการณ์ ENSO จะทำให้ลานิญาอ่อนกำลัง ปริมาณฝนรวมของไทยมีโอกาส 50-50 ยกเว้นภาคใต้ หลังจากนั้นช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.อาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ซึ่งหน่วยปฏิบัติการการบริหารจัดการน้ำทั้ง 10 หน่วยงานได้เตรียมแผนรองรับแล้ว

“ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศขณะนี้ มีการเพาะปลูก 99% ของแผน ซึ่งนาปรังเกินแผน 1% และเก็บเกี่ยวแล้ว 3.5 แสนไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาเกินแผน 11% เก็บเกี่ยวแล้ว 1.2 แสนไร่ แม้น้ำจะเพียงพอและอยู่ในแผน แต่กรมชลประทานกังวลว่า หลังการเก็บเกี่ยวแล้วชาวนาจะมีการปลูกข้าวอีกรอบ จึงประสานไปยังกระทรวงมหาดไทยทำความเข้าใจกับเกษตรกรถึงปริมาณน้ำที่มีจำกัด หากปลูกเพิ่มอาจกระทบกับราคา และเพื่อป้องกันความเสี่ยงหากเกิดภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะช่วง มิ.ย.-ก.ค.จะเกิดฝนทิ้งช่วง”

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศ มีการเพาะปลูกไปแล้ว 8.97 ล้านไร่ คิดเป็น 99% ของแผน ข้าวนาปรังมีการเพาะปลูกไปแล้ว 8.35 ล้านไร่ เกินแผนเพียง 1% และเก็บเกี่ยวแล้ว 3.5 แสนไร่ แต่เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.81 ล้านไร่ เกินแผน 11% แบ่งเป็นข้าวนาปรัง เพาะปลูกไปแล้ว 5.75 ล้านไร่ เกินแผน 11% แต่ภาพรวมทั้งประเทศยังต่ำกว่าแผน โดยพื้นที่ 11.69 ล้านไร่ ปลูกได้ 11.05% ยังคงต่ำกว่าเป้าซึ่งหากเทียบกับปีที่แล้ว แผนรอบ 2 ปีนี้จะมากกว่าปีที่แล้ว เพราะผลผลิตนาปีเป้า 24 ล้านตันข้าวเปลือก แต่ประสบภัยน้ำท่วมจึงได้ 22 ล้านตันข้าวเปลือก ทำให้ปีนี้เพิ่มแผนจาก 8 ล้านไร่ ให้อยู่ที่ 11.69 ล้านไร่ เพื่อความสมดุล ทั้งนี้ คาดว่าปีนี้ยังเป็นไปตามแผน เนื่องจากจะสิ้นฤดูแล้ว คาดว่าเกษตรกรไม่ปลูกเกินไปกว่านี้ เพราะบางพื้นที่ปรับเปลี่ยนไปเพาะปลูกพืชอื่น ประกอบกับปีนี้สถานการณ์น้ำเป็นไปตามคาดการณ์ และยังไม่มีแนวโน้มเกิดภัยธรรมชาติจะส่งผลให้ข้าวราคาดีและสอดคล้องแผนข้าวครบวงจร

อย่างไรก็ดี จะมีการรายงานสถานการณ์ผลผลิตข้าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวครบวงจร (นบข.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันศุกร์ที่ 2 มี.ค.นี้ คาดว่าที่ประชุมจะเห็นชอบวาระแผนข้าวครบวงจรปี’60