พลังงานหมุนเวียนรอบใหม่คึก WHA-RATCH ร่วมชิงเค้ก 3,600 MW

พลังงานทดแทน

กกพ.จ่อคลอดหลักเกณฑ์รับซื้อไฟจากพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่ 3,660 เมกะวัตต์ หลังปลดล็อกประกาศผลสรุปการจัดทำโครงการรับซื้อไฟรอบแรก 5,000 เมกะวัตต์ 5 เม.ย. 66 ด้านเอกชน “WHA-RATCH” แง้มสนใจร่วมชิงเค้ก พลังงานโซลาร์-ลม ลุ้นรัฐใช้กติกาเดิม

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เตรียมจะเสนอที่ประชุมกกพ.พิจารณาหลักเกณฑ์ดำเนินโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบ feed in tariff (FIT) ปี 2565-2573 เพิ่มเติมอีก 3,660 เมกะวัตต์ ตามมติประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2566 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานก่อนหน้านี้

คมกฤช ตันตระวาณิชย์

“เบื้องต้นจะดูรายละเอียดมติ กพช.ก่อนที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ออกมา โดยยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะใช้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเปิดโครงการ 5,203 เมกะวัตต์ก่อนหน้านี้หรือไม่ แต่การออกหลักเกณฑ์รอบใหม่จะต้องรอให้ผลพิจารณาโครงการรอบแรกได้ข้อสรุปเสียก่อน

กกพ.ได้เลื่อนกำหนดวันประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาจัดหาไฟรอบแรกออกไปจากวันที่ 10 มีนาคม 2566 ไปเป็นวันที่ 5 เมษายน 2566 ส่วนผู้ประกอบการบางรายยื่นร้องศาลปกครองเพื่อขอให้คุ้มครองชั่วคราวนั้น นับเป็นกระบวนการที่สามารถดำเนินการได้ปกติ เช่นเดียวกับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนก่อนหน้านี้ก็มีเช่นกัน ซึ่งหากศาลมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราว ทาง กกพ.พร้อมจะชะลอโครงการ ส่วนการจัดหารอบใหม่ 3,660 เมกะวัตต์ก็ต้องรอให้โครงการแรกได้ข้อสรุปเสียก่อน”

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางบริษัทได้ยื่นขอเข้าร่วมโครงการ 5,000 เมกะวัตต์ ผ่านการพิจารณา 2 รอบแล้ว คาดว่าจะประกาศผลเดือนเมษายนนี้ โดยมีจำนวนโครงการที่ยื่นรวม 6-7 โครงการ ในจำนวนนี้ได้เสนอร่วมกับพาร์ตเนอร์อีก 3 โครงการ รวมกำลังการผลิต 200 เมกะวัตต์ และยังรวมในส่วนของระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ด้วย

“ส่วนโครงการใหม่ 3,660 เมกะวัตต์ หาก กกพ.เปิดให้ยื่นทางเราก็สนใจร่วมอยู่แล้ว แต่ยังไม่รู้รายละเอียดว่าวิธีการจะเป็นอย่างไร เช่น จะเอาส่วนที่ยื่นรอบแรกมาประกาศตรงนี้เลย หรือหลักการคืออะไร เท่าที่ทราบคือ ถ้าลอตแรกยื่นไป 5,000 เมกะวัตต์ แต่รอบแรกเราได้ 3,000 เมกะวัตต์

รอบใหม่จะเอาส่วนที่ผ่านคุณสมบัติรอบแรกที่เหลือมาคิดต่อ หรือจะใช้หลักการเดิมกำหนดราคารับซื้อไฟเช่นเดิม แต่เปิดให้ยื่นใหม่ แต่ไม่ว่าจะเป็นแนวทางใดเราก็พร้อมจะยื่นใหม่อยู่แล้ว น่าจะทำได้หลายร้อยเมกะวัตต์ ซึ่งภาพรวมพลังงานทั้งหมดน่าจะจบที่ 780 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะโซลาร์น่าจะแตะ 300 เมกะวัตต์”

ทั้งนี้ไทยมีโอกาสจะพัฒนาพลังงานสะอาดในอนาคตได้ และต้นทุนพลังงานโซลาร์ปัจจุบันนี้ถูกลงเหลือแค่ 2 บาท จากค่าไฟที่ซื้อจากกริด 4 บาท ซึ่งทาง WHAUP ทำธุรกิจจัดทำโซลูชั่นและไปติดตั้งให้ลูกค้าขายในราคาดิสเคานต์ ทำให้เห็นว่ามีลูกค้าเราบางรายมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะฝั่งยุโรปเขาถามเลยว่า เรามีพลังงานสะอาดให้เขา 100% หรือไม่ เพราะโดนบังคับมาจากบริษัทแม่แล้ว นี่จะเป็นสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อม และ WHA มีความได้เปรียบกว่านิคมอื่น ๆ ตรงที่เราทำพลังงานเอง

ขณะที่นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ระบุว่า บริษัทมีความสนใจเข้าร่วมยื่นเสนอโครงการในรอบใหม่ 3,660 เมกะวัตต์ โดยสนใจผลิตไฟฟ้าประเภทโซลาร์ฟาร์มและพลังงานลม กำลังการผลิตรวมไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ โดยอยู่ระหว่างรอการประกาศกติกาจากรัฐ คาดว่าจะยื่นเสนอในปริมาณที่มากกว่ารอบแรกซึ่งเป็นโซลาร์ฟาร์มทั้งหมด

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลสรุปการพิจารณารอบแรกในเดือนเมษายน 2566 ว่าจะได้รับสิทธิเข้าดำเนินโครงการหรือไม่ ทั้งนี้คาดว่าจะใช้งบประมาณการลงทุน 20-25 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ โดยมีการลงทุนร่วมกับพันธมิตรร่วมลงทุน (JV) ด้วย

“รอบที่สอง เราคาดว่าจะมีเวลาเตรียมตัวเพื่อความพร้อมในการยื่นเสนอโครงการมากกว่ารอบแรก เพราะภาครัฐยังต้องใช้เวลาร่างกติกาต่าง ๆ ดังนั้นจังหวะยื่นเสนอโครงการในปริมาณที่มากกว่ารอบแรก เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับบริษัท และไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม เพราะแดดดี ส่วนพลังงานลมก็สนใจ แต่ยังต้องจัดหาพื้นที่ติดตั้งกังหันลมซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ”

รายงานข่าวระบุว่า สำหรับผลสรุปการพิจารณา 5,203 เมกะวัตต์นั้น ทาง กกพ. ประกาศว่ามีผู้ผ่านเกณฑ์ 318 โครงการ รวม 7,729 เมกะวัตต์ จากทั้งหมดที่ยื่น 550 โครงการ และอยู่ระหว่างให้เอกชนยื่นอุทธรณ์

แต่ปรากฏว่ามีเอกชนที่ไม่ผ่านเกณฑ์พิจารณา 4-5 ราย ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ความคุ้มครองชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่าปัญหาด้านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทำให้เอกชนไม่สามารถยื่นเอกสาร (อัพโหลด) ได้ทัน จึงเสียโอกาสในการเข้าร่วม อีกทั้งมีการตั้งข้อสังเกตว่าที่ผ่านมาการประกาศราคารับซื้อไฟ “ฟิกซ์เรต” ทำให้ไม่ได้มีการแข่งขันราคาอย่างแท้จริง


ส่วนทาง กกพ.ชี้แจงว่า เหตุผลที่ฟิกซ์ราคาเพราะเปิดเสนอราคาหลายครั้งแล้ว มีการแข่งขันราคาน้อย และที่สำคัญโครงการนี้ไม่เหมือนกับการผลิตไฟทั่วไป แต่เป็นการผลิตที่จะตอบสนองเรื่องไฟฟ้าสีเขียว หรือกรีนทารีฟ ที่ภาคธุรกิจผู้ผลิตสินค้าต้องส่งออกสินค้า ตามมาตรการ CBAM ที่สหภาพยุโรปจะเริ่มในเดือนตุลาคมนี้ จึงต้องการเฟ้นหาเอกชนที่สามารถผลิตไฟได้จริงไม่ทิ้งโครงการ เพื่อออกใบรับรอง REC ไปแสดงต่อผู้นำเข้า เพื่อจะไม่ถูกคู่ค้าเรียกเก็บกรีนทารีฟ