เงินสะพัดเลือกตั้ง 1.2 แสนล้าน ม.หอการค้าคาดเศรษฐกิจฟื้นไตรมาส 4

เลือกตั้ง-1

ม.หอการค้าไทยชี้ เลือกตั้งคาดแข่งเดือด 2 เดือนเงินสะพัด 1.2 แสนล้านบาท มั่นใจไม่เกิดสุญญากาศเร่งเบิกจ่ายงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ ผลสำรวจคาดเศรษฐกิจฟื้นไตรมาส 4 ทั้งปี’66 โต 3.0-3.5%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ภายหลังการยุบสภาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 และมีการคาดว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งและเห็นรัฐบาลชุดใหม่ได้ในช่วงเดือนสิงหาคม

โดยในช่วงที่มีการหาเสียงคาดจะมีเงินสะพัดอย่างน้อย 5-6 หมื่นล้านบาท และจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจช่วงเมษายนถึงพฤษภาคมราว 1-1.2 แสนล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจขึ้น 0.5 ถึง 0.7%

โดยในช่วงที่รัฐบาลรักษาการ ต้องยอมรับว่าอาจจะทำอะไรไม่ได้ แต่สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการคือ ให้ภาครัฐเร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่ผูกพันตามแผนการลงทุน ตามแผนการใช้จ่ายปกติ เพื่อพยุงให้เศรษฐกิจเดินหน้า โดยยังมองว่ารัฐบาลยังสามารถทำได้ แต่หากจะเกิดสุญญากาศทางเศรษฐกิจ คือช่วงตั้งรัฐบาล เนื่องจากนโยบายงบประมาณต่าง ๆ ยังต้องอยู่ระหว่างการเสนอต่อรัฐสภา

ดังนั้น ในช่วงนั้นยังเป็นสถานการณ์ที่ต้องจับตาว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ ใครจะขึ้นเป็นนายกฯ และปัจจุบันฝ่ายค้านก็มีความประสงค์จะขึ้นเป็นฝ่ายรัฐบาล การเลือกตั้งจะเกิดแลนด์สไลด์ไหม การตั้งรัฐบาลแบบพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคการเมืองต่างต้องการเสียงส่วนใหญ่เพื่อจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ ปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อนโยบายเศรษฐกิจปีนี้ การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีการแข่งขันที่รุนแรง ดุเดือด และเข้มข้นมากขึ้น

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลสำรวจผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองการเลือกตั้งใหม่ กรณีที่คาดว่าจะมีการเลือกตั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 นี้ จะส่งผลต่อธุรกิจส่วนใหญ่ 40.1% โดยจะส่งผลเป็นบวกให้มีเงินสะพัด ยอดขายสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้นจากการหาเสียงและการลงพื้นที่ของผู้สมัคร และสร้างความเชื่อมั่นทางด้านการเมืองได้

“ส่วนใหญ่นักธุรกิจภาคเอกชน 40.3% มองว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ไตรมาส 4 โดยเศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่ในกรอบ 3.35-3.82% ส่วนหอการค้าไทยยังคงประเมินจะขยายตัวเศรษฐกิจไว้อยู่ในกรอบ 3.0-3.5% ยังไม่มีการปรับตัวเลขคาดการณ์ โดยคาดว่าจะปรับอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม 2566 นั่นคือหลังจากมีการเลือกตั้งแล้วเสร็จ”

ขณะที่ 11.5% มองว่าส่งผลกระทบทางลบ โดยผู้ประกอบการกังวลเกี่ยวกับความต่อเนื่องด้านนโยบายเศรษฐกิจ ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองใหม่ และความกังวลเกี่ยวกับแนวนโยบายที่พรรคการเมืองหาเสียง จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการ เช่นการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ การสำรวจยังพบว่าสถานการณ์การเลือกตั้งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในประเทศไทย 47.5% มองว่ามีผลเป็นอย่างมาก พร้อมกันนี้เมื่อยุบสภาผู้ประกอบการนักธุรกิจมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมือง

โดยส่วนใหญ่ 79.5% มีความกังวลในเรื่องแนวนโยบายเศรษฐกิจที่จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการประกอบธุรกิจ 78.3% แนวนโยบายที่ไม่ต่อเนื่อง 60.3% ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง 58.9% เสถียรภาพของรัฐบาลชุดใหม่ และ 57.4% ยังไม่มีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นที่ชัดเจน


สำหรับข้อเสนอแนะที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือคือ การลดต้นทุนการผลิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยเฉพาะค่าพลังงาน อัตราดอกเบี้ย ค่าจ้างขั้นต่ำ มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่มีรัฐบาลรักษาการ และยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ดูแลสถานการณ์หนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก