“อนุชา” เข้ากระทรวงอุตฯ วันแรก ลั่นสานต่องานเดิมที่ดีอยู่แล้ว

อนุชา นาคาศัย
อนุชา นาคาศัย

“อนุชา นาคาศัย” ประชุมผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมครบทุกหน่วย พร้อมเดินหน้า 9 นโยบาย สานต่องานค้างให้ดีจนกว่ารัฐบาลใหม่มา หนุนพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก หวังดัน GDP ประเทศเพิ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ 22 มีนาคม 2566 นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมรับฟังบรรยายสรุปภาพรวมสถานการณ์อุตสาหกรรมของประเทศ ความเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติ ความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงอุตสาหกรรม และการปฏิรูปการทำงานตามแนวคิด “MIND” ใช้หัวและใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน เพื่อมุ่งยกระดับภาคอุตสาหกรรมคู่ชุมชน ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามแนวคิด BCG Model พร้อมมอบนโยบายให้แก่ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงอุตสาหกรรม

นายอนุชา กล่าวว่า จะเดินหน้าสานต่องานเดิมที่รัฐบาลได้ดำเนินการไว้อยู่แล้ว ใน 9 มาตรการหลัก คือ 1.การปรับปรุงกฎหมายของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) 2.มาตรการแก้ปัญหาอ้อยที่ถูกลักลอบเผา 3.การจัดการกากอุตสาหกรรมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และประชาชนในพื้นที่

4.การผลักดันมาตรฐานการปล่อยมลพิษตามมาตรฐานยูโร 6 ให้เร็วขึ้น เพื่อยกระดับการส่งออกและการผลิตตามมาตรฐานที่ประเทศคู่ค้ากำหนด ซึ่งประเทศชั้นนำส่วนใหญ่ในตลาดโลกได้ปรับตัวใช้มาตรฐานยูโร 6 แล้ว
รวมทั้ง

5.การเดินหน้าส่งเสริมมาตรการยานยนต์ไฟฟ้า ที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย ต้องหาแต้มต่อทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางรถอีวีต่อไป พร้อมกับเดินหน้าสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ เพื่อให้ไทยเป็นผู้นำและเป็นศูนย์กลางการทดสอบ และรับรองในภูมิภาคอาเซียน

6.มาตรการทางการเงินให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี วิเคราะห์เจาะลึกถึงปัญหาของผู้ประกอบการ เพื่อแก้ปัญหาให้ถูกจุด เนื่องจากยังมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อีกหลายรายที่ยังประสบปัญหาอยู่เป็นจำนวนมาก

7.การบูรณาการกองทุนหมู่บ้าน และเกษตรอุตสาหกรรมระดับจังหวัดต้นแบบ โดยจะนำนโยบายเงินบาทแรกของแผ่นดิน ช่วยเกษตรหลุดพ้นความยากจน 8.เดินหน้านโยบายแบบฟอร์มดิจิทัลเดียว หรือ i-Single Form และสุดท้าย 9.การชี้เป้ายุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ของกระทรวงอุตฯ และบูรณาการเครือข่ายการประชาสัมพันธ์

ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นกระทรวงเศรษฐกิจที่สามารถผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ความเจริญได้ โดยตัวเลขของ GDP 1.6 ล้านล้านบาท ที่เป็นรายได้รวมของประเทศ ส่วนหนึ่งมาจากภาคอุตสาหกรรม ทั้งในส่วนธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ SMEs และวิสาหกิจชุมชมที่เป็นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ทั้งนี้ เศรษฐกิจของประเทศไทยที่จะเติบโตได้มากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกด้วย

“กระทรวงอุตสาหกรรม มีศักยภาพและความพร้อม มีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ สามารถผลักดันภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ให้เดินรุดหน้าได้ตามแผนในหลายโครงการ อาทิ การส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) การส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมการผลิต เป็นต้น ขณะเดียวกันก็มีความเป็นห่วงในเรื่อง SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากในชุมชน ซึ่งถือเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ต้องการโอกาสในการทำธุรกิจ ซึ่งผมถือเป็นเรื่องเร่งด่วน

โดยเฉพาะการหาสาเหตุของความล้มเหลวของ SMEs ที่หลักๆไม่ได้อยู่ที่ปัญหาของเรื่องเงินทุน และคุณภาพสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่ปัญหาหลักของ SMEs คือ “กำลังซื้อของประเทศไทยอยู่ตรงไหน” ไม่ว่าจะเป็นจากภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก หรือแม้แต่ GDP ของประเทศ โดยขอฝากการบ้านให้กับข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ไปช่วยกันหาเหตุผล รวมทั้งสร้างจิตวิทยาในการลงทุนเพื่อส่งต่อไปยังกลุ่ม SMEs เพื่อให้กลายเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพในอนาคต”

นอกจากนี้ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยยังไม่จบ ปัญหาความยากจนยังคงมีอยู่ ซึ่งสิ่งที่อยากเห็นในอนาคต คือ การที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศหลุดพ้นจากความยากจน โดยจากจะเน้นให้ภารกิจของกระทรวงอุตสาหกรรม สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนที่เป็นเศรษฐกิจฐานราก และเศรษฐกิจชุมชน ผ่านองค์ความรู้ในด้านอุตสาหกรรมการเกษตรแบบครบวงจร

ขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตในภาคอื่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการอย่างเข็มแข็งต่อเนื่องอยู่แล้ว มีเพียงปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ที่ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการ และร่วมกันทำให้เกิดปัญหาน้อยลง อีกทั้งปัญหาการเล็ดรอดของซีเซียม -137 จากโรงไฟฟ้า ได้กำชับให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เร่งดำเนินการแก้ไข พร้อมกำชับ ตรวจสอบ โรงงานที่มีความเสี่ยงทั้งหมด

สำหรับการประชุมฯ ในวันนี้ (22 มี.ค.66) มีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีทุกกรม ผู้ว่าการ กนอ. กรรมการผู้จัดการ ธพว. ผู้อำนวยการสถาบันเครือข่ายทั้ง 11 สถาบัน และอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ