คลังก๊าซLPGสยามแก๊สสะดุด ใกล้เส้นตาย 2 ปีให้ผ่อนผันเรือลอยน้ำ

กรมธุรกิจพลังงาน หวั่นแผนสร้างคลังก๊าซ LPG ของบริษัทสยามแก๊สฯ ล่าช้า หลังต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ต่อไป ส่งผลกระทบสร้างคลังไม่ทันก่อนหมดเวลาผ่อนผันให้ใช้เรือก๊าซลอยน้ำได้อีก 3 ปีเท่านั้น ขณะที่กรมยืนยันไม่มีขยายเวลาให้แน่ เกรงผู้ค้าก๊าซรายอื่นร้องไม่เป็นธรรม ด้านดับบลิวพีฯยังไม่พร้อมนำเข้าก๊าซเอง ขอศึกษาความเหมาะสมก่อน

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่กระทรวงพลังงานได้เปิดเสรีธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)เพื่อให้เกิดการแข่งขันในตลาดโดยมีผู้นำเข้าก๊าซหลาย ๆ รายจากเดิมที่มีเพียง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำเข้าเพียงรายเดียวนั้น โดยกรมธุรกิจพลังงานได้ “ผ่อนปรน” ข้อจำกัดให้กับผู้ค้าก๊าซ LPG กรณีให้บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SGP ให้สามารถนำเข้าก๊าซ LPG ด้วยการใช้เรือก๊าซลอยน้ำ (floating storage) ลอยลำตรงบริเวณเหนืออ่าวอุดม จังหวัดชลบุรี ได้ไม่เกิน 3 ปีเพื่อรองรับการนำเข้าก๊าซ LPG และเพื่อให้ผู้ค้าก๊าซมีเวลาเตรียมความพร้อมในการสร้างท่าเรือและคลังก๊าซของตัวเอง เบื้องต้นกรมธุรกิจพลังงานได้รับรายงานว่า ที่ดินที่บริษัทสยามแก๊สฯ เตรียมไว้สำหรับก่อสร้างคลังก๊าซ LPG ยังอยู่ระหว่างการทำความเข้าใจกับประชาชนและอาจจะไม่สามารถสร้างคลังได้ทันตามกรอบเวลาที่ผ่อนผันให้ไว้

ล่าสุด กรมธุรกิจพลังงาน ยังคงยืนยันที่จะ “ไม่ขยายเวลา” ผ่อนปรนการนำเข้าก๊าซ LPG ด้วยเรือลอยน้ำให้กับบริษัทสยามแก๊สฯ นั้นหมายถึง เรือ floating storage ลำดังกล่าวจะดำเนินการได้จนถึงปี 2563 เท่านั้น สำหรับเหตุผลที่ไม่สามารถขยายเวลาได้นั้นเป็นเพราะกรมอาจจะถูกร้องเรียนจากผู้ค้าก๊าซ LPG รายอื่น ๆ ว่า “ไม่เป็นธรรม” ในการสร้างความได้เปรียบในการนำเข้าก๊าซ LPG ให้กับรายใดรายหนึ่งเท่านั้น

อย่างไรก็ตามก่อนหน้าที่จะมีการประกาศเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG อย่างเป็นทางการได้มีผู้ค้าก๊าซบางรายยืนยันจะดำเนินการนำเข้าก๊าซ LPG เองบ้าง รวมถึงจะมีการร่วมมือในกลุ่มธุรกิจก๊าซ LPG ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อร่วมกันนำเข้าก๊าซด้วย อาทิ ในกรณีของบริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ WP, บริษัท มิตซูบิชิ (ประเทศไทย) จำกัด รวมถึง บริษัท ยูนิคแก๊ส แอนด์ปิโตรเคมิคัลส์ จำกัด (มหาชน) แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังคงมีผู้นำเข้าก๊าซ LPG หลักเพียง 2 รายคือ บริษัท ปตท. กับบริษัทสยามแก๊สฯ เท่านั้น

“เมื่อมีผู้เล่นในตลาดนี้มากขึ้น ทำให้เรามีตัวเปรียบเทียบว่า ราคาก๊าซ LPG ที่ใช้ในปัจจุบันนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ ซึ่งประชาชนก็จะได้รับประโยชน์เต็ม ๆ จากการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG ครั้งนี้ ดังนั้นสิ่งที่กรมธุรกิจพลังงานอยากเห็นก็คือ การมีผู้ค้าก๊าซรายอื่น ๆ เข้ามาแข่งขัน มีการนำเข้าก๊าซเพิ่มขึ้นจากที่มีเฉพาะ ปตท.กับสยามแก๊สฯ ที่นำเข้าอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา” นายวิฑูรย์กล่าว

กรณีปัญหาการใช้ที่ดินเพื่อสร้างคลังก๊าซของสยามแก๊สฯปรากฏ บริษัทสยามแก๊สฯ ได้เข้าหารือกับบริษัท ปตท. เพื่อขอใช้คลังก๊าซเขาบ่อยาเป็นแนวทางสำรองไว้แล้ว ซึ่งในกรณีนี้เชื่อว่า ปตท.อาจจะพิจารณาปรับลดราคาอัตราค่าบริการต่าง ๆ ของคลังเขาบ่อยาลงบ้างเพื่อทำให้ต้นทุนการนำเข้าก๊าซโดยใช้คลังเขาบ่อยามีต้นทุนที่ “ถูกกว่า” การใช้แนวทางอื่น ซึ่งในอนาคตอาจจะทำให้มีผู้ค้าก๊าซรายอื่น ๆ นอกเหนือไปจากบริษัทสยามแก๊สฯ เข้ามาเจรจาเพื่อขอใช้คลังเขาบ่อยาเพิ่มขึ้น ยิ่งในกรณีที่ผู้ใช้มากกว่า 1 รายมีความเป็นไปได้มากกว่า ปตท.อาจจะปรับลดอัตราค่าบริการอื่น ๆ ให้ลดลงได้อีก ฉะนั้นราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศน่าจะมีโอกาสลดลงได้เช่นกัน

นอกจากนี้ นายวิฑูรย์กล่าวเพิ่มเติมถึงการใช้ก๊าซ LPG ในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 17 ล้านกิโลกรัม/วัน หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.4 โดยมีการใช้เพิ่มขึ้นในทั้งทุกภาค “ยกเว้น” ในภาคขนส่งที่มีการใช้อยู่ที่ 3.6 ล้านกิโลกรัม/วัน หรือปรับลดลงร้อยละ 10 ส่วนการใช้ก๊าซ LPG ในภาคอื่น ๆ มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาคปิโตรเคมีการใช้เพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ที่ 5.7 ล้านกิโลกรัม/วัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 ภาคอุตสาหกรรมมีปริมาณการใช้อยู่ที่ 1.8 ล้านกิโลกรัม/วัน หรือการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 และภาคครัวเรือนอยู่ที่ 5.9 ล้านกิโลกรัม/วัน หรือการใช้เพิ่มขึ้น 2.1

“จะเห็นได้ว่า ความต้องการใช้ก๊าซ LPG ในภาคขนส่งยังลดลงต่อเนื่อง หลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ จนตอนนี้ปั๊มก๊าซ LPG หลายแห่งได้ปรับเปลี่ยนหัวจ่ายมาเป็นน้ำมันโดยเฉพาะในปั๊มที่มีพื้นที่มาก จะมีหัวจ่ายทั้งน้ำมันและก๊าซ LPG เพื่อให้บริการลูกค้า ซึ่งหากมองในทางกลับกันในอนาคตถ้าราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นก็สามารถเปลี่ยนมาขายก๊าซ LPG ได้อีก” นายวิฑูรย์กล่าว

ด้านนายนพวงศ์ โอมาธิกุล ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทดับบลิวพีฯยังคงอยู่ในระหว่างศึกษาความเหมาะสมและเปรียบเทียบต้นทุนการนำเข้าก๊าซ LPG แต่ละแนวทางว่าเป็นอย่างไร “ตอนนี้เรายังซื้อก๊าซ LPG จากทั้ง ปตท.และโรงกลั่นอื่น ๆ ในประเทศอยู่” นายนพวงศ์กล่าว