ศึกชิงเก้าอี้ “ซีอีโอ ปตท.” เปิด 2 ตัวเต็ง-แรงหนุนแน่น

เกมชิงเก้าอี้ซีอีโอ บมจ.ปตท. รัฐวิสาหกิจเกรดเอกำลังถูกจับตามองไม่กะพริบ หลังวาระการดำรงตำแหน่งของนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. จะสิ้นสุดลงวันที่ 31 ส.ค. 2561 นี้

เป็นตำแหน่งเบอร์ 1 ขององค์กรที่ทำกำไรถึง 135,180 ล้านบาท (สิ้นสุด ณ ปี 2560) และได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นผู้ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานในฐานะรัฐวิสาหกิจหลัก ยิ่งทำให้องค์กรแห่งนี้ทวีความสำคัญมากขึ้นอีก

ทั้งหมดนี้มาจากฝีมือการบริหารงานของนายเทวินทร์ ซีอีโอคนปัจจุบัน ต้องนับถอยหลังอำลาตำแหน่งจากการเกษียณอายุ

แน่นอนว่า บุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งต่อจากนายเทวินทร์ จำเป็นต้องได้รับการยอมรับทั้งจากภายในองค์กร ปตท. และจากรัฐบาลในฐานะรัฐวิสาหกิจ และบริษัททางด้านพลังงานสำคัญของประเทศ

การเปิดสมัครคัดเลือก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือซีอีโอ ปตท.คนใหม่ ระหว่างวันที่ 5-26 ก.พ. 2561

หลังเปิดรับสมัครบุคคลที่จะเสนอตัวเข้ารับการคัดเลือกนั่งเก้าอี้บิ๊ก ปตท.คนใหม่ ตั้งแต่ 5 ก.พ. 2561 ถึงวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการรับสมัคร ปรากฏมีผู้มาสมัครทั้งหมด 5 คน ในจำนวนนี้เป็น “คนใน” 4 คน กับ “คนนอก” อีก 1 คน ประกอบด้วย

1) นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ 2) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย และรักษาการแทนรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย

3) นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม

4) นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและดิจิทัล ส่วนรายที่ 5 คือ นางดวงดรันย์ อยู่สวัสดิ์ นักธุรกิจหญิง

ตามขั้นตอนผู้สมัครทั้ง 5 ราย จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหา ที่มี “บิ๊กเบี้ยว” พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เป็นประธาน ส่วนกรรมการประกอบด้วย นายสมชัย สัจจพงษ์ นายธรรมยศ ศรีช่าง นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์

และ พล.อ.ท.บุญสืบ ประสิทธิ์ จากนั้นจะเสนอบอร์ดใหญ่ ปตท.ชี้ขาด ในอีก 1-2 เดือนข้างหน้านี้ ก่อนที่นายเทวินทร์จะหมดวาระลง 3-4 เดือน

เร็วกว่าการสรรหาในอดีต ซึ่งข่าววงในชี้ว่า สาเหตุที่ต้องการได้ “ตัว” ซีอีโอ ปตท.เร็วกว่าทุกครั้ง ก็เพื่อตัดปัญหาความสุ่มเสี่ยงทางการเมืองของรัฐบาล โดยเฉพาะความไม่แน่นอนจากการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอนาคต

สำหรับ “บุคคล” ที่ถูกจับตาว่า “มาแรง” ตามความรู้สึกของคนในแวดวงพลังงานในขณะนี้มี 2 ตัวเลือก ได้แก่ นายชาญศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม กับนายอรรถพล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย และรักษาการแทนรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย

โดยรายแรกจบการศึกษาปริญญาตรีเศรษฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายหลังจบการศึกษาปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ่วงปริญญาโทพัฒนาการเศรษฐกิจมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ด้านประวัติการทำงาน ปี 2557 นายชาญศิลป์ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปฏิบัติงาน secondment ในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายพาณิชยกิจและการตลาด รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจท่าเรือและบริหารจัดการสินทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทไทย เอ บี เอส กรรมการผู้จัดการ บริษัทน้ำมัน IRPC และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานแผน

ปี 2558 ขึ้นเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร ปตท. และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ปตท. ปี 2559-60 เป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย กับประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและบริหารความยั่งยืน และเพิ่งขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรมเมื่อ 1 ม.ค. 2561

ส่วนประวัติการทำงานของนายอรรถพล ปี 2553-54 เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม ปตท. ปี 2554-2557 เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดพาณิชย์และต่างประเทศ ปตท. เดือน ก.ย. 2557 ขึ้นเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดขายปลีก ปตท.

เดือน ต.ค. 2557-30 ก.ย. 2558 เป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารความยั่งยืนและวิศวกรรมโครงการ ปตท. ต.ค. 2558-30 ก.ย. 2560 เป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน ปตท. และ ต.ค. 2560 ถึงปัจจุบัน เป็นประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย และรักษาการแทนรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายอีกตำแหน่งหนึ่ง

ทว่าความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเลือกสรรซีอีโอของบริษัทที่มียอดขายเฉียด 2 ล้านล้านบาท คงไม่ได้มาจาก “ฝีมือ” หรือ “การยอมรับ” ในองค์กรเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจัยหลักภายใต้สถานการณ์วันนี้คือ ต้องได้รับการยอมรับและเป็นที่ไว้วางใจของ “รัฐบาล” ในฐานะผู้บริหารประเทศเป็นสำคัญ

จากอดีตที่ “นักการเมือง” มีบทบาท แต่เวลานี้ต้องให้ “รัฐบาล” ส่งสัญญาณแทน

แน่นอนว่าคู่ชิงที่กำลังมาแรง ต่างคนต่างมีฝีมือ ผลงาน รวมทั้งมีกุนซือหนุนอยู่ข้างหลังไม่น้อยหน้าหรือเป็นรองใคร แต่สิ่งที่กองเชียร์พึงสังวรล่วงหน้าคือ ระวังจะถูกสับขาหลอก