ไข่ไก่ขาดแคลนทั่วโลก สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน แห่นำเข้า ดันราคาปรับสูงขึ้นตามกลไกตลาด สมาคมผู้ผลิตไข่ไก่ฯ มั่นใจไทยคุมหวัดนกอยู่-ปริมาณไข่ไก่เพียงพอ
วันที่ 25 มีนาคม 2566 นายมงคล พิพัฒสัตยานุวงศ์ นายกสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกทั่วโลกขณะนี้ ทำให้หลายประเทศต้องทำลายแม่ไก่ ส่งผลให้ไข่ไก่ขาดแคลน เช่น สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เป็นต้น ทำให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนจากราคาสูง การจำกัดปริมาณการซื้อ และเข้าถึงยาก
“ช่วงที่ผ่านมา สหรัฐเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบปัญหาไข้หวัดนก ทำให้ขาดแคลนไข่ไก่และราคาเพิ่มขึ้นเกือบ 60% จนผู้บริโภคเดือดร้อน ประกอบกับและต้นทุนการเลี้ยงไก่ไข่สูงขึ้น ทั้งราคาอาหารสัตว์ ค่าแรงงาน ค่าบริหารจัดการฟาร์ม
เช่นเดียวกับ มาเลเซีย ที่ประสบปัญหาขาดแคลนไข่ไก่ เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารปรับราคาสูงขึ้น จากผลกระทบของสงครามยูเครน กดดันให้ผู้เลี้ยงรายเล็กต้องลดปริมาณการเลี้ยง จนต้องสั่งซื้อไข่ไก่ลอตใหญ่ที่สุด 50 ล้านฟอง จากอินเดีย เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลน
ขณะที่กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่น มีการทำลายไก่และนกอื่น ๆ ทั่วประเทศจากไข้หวัดนกจำนวน 15 ล้านตัว ทำให้ราคาขายส่งไข่ขนาดกลางในกรุงโตเกียวอยู่ที่ 335 เยน (2.49 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อกิโลกรัม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เพิ่มขึ้นมากกว่า 81% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
“ราคาไข่ไก่ของไทย ยังถูกกว่าประเทศต่าง ๆ มาก และเป็นผลผลิตที่ปลอดภัยจากโรคระบาด ราคาจึงมีการปรับขึ้นตามกลไกตลาดและเหมาะสมกับคุณภาพที่ผู้บริโภคได้รับ” นายมงคลกล่าว
นายมงคลกล่าวว่า ขณะที่ไทยมีการปัองกันอย่างดีไม่มีปัญหาในฟาร์มสัตว์ปีก ไทยมีผลผลิตไข่ไก่เกินความต้องการ โดยเฉพาะช่วงนี้ปิดเทอมความต้องการไข่ไก่ลดลง จึงไม่กระทบต่อการบริโภคในประเทศ ขณะเดียวกันยังเป็นสนับสนุนให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาดี ไม่ขาดทุน ซึ่งราคาอาจปรับขึ้นบ้างตามกลไกตลาด
“ผู้เลี้ยงไก่ไข่ไทย ก็ประสบปัญหาราคาอาหารไก่ปรับขึ้นประมาณ 3-4 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มที่เหมาะสมอยู่ที่ 4.00 บาทต่อฟอง แต่ราคาปัจจุบันอยู่ที่ 3.60 บาทต่อฟองเท่านั้น” นายมงคลย้ำ
นายมงคลกล่าวต่อไปว่า ไข่ไก่ เป็นโปรตีนคุณภาพดีที่คนไทยนิยมบริโภคและเข้าถึงง่ายที่สุด จึงขอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการช่วยเหลือด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อสนับสนุนการผลิตให้ราคาและการผลิตอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพียงพอต่อความต้องการบริโภค ไม่เกิดปัญหาขาดแคลน ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารทั้งในประเทศและทั่วโลก