
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) แถลงดัชนีภาวะการค้าภาคบริการของไทย ในเดือนมกราคม 2561 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกัน อยู่ที่ระดับ 113.7 สูงขึ้นร้อยละ 9.2 (YoY) โดยเป็นอัตราที่ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 11.9 ในเดือนธันวาคม 2560 สาขาบริการสำคัญ เช่น ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ การขนส่ง การขายปลีก มีการขยายตัวในอัตราที่ดี ส่วนบริการที่หดตัวมีเพียง 2 สาขา คาดว่าภาคบริการจะมีส่วนสาคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2561 นี้
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคบริการขยายตัวในเดือนมกราคม เกิดจากจำนวนนิติบุคคลจดทะเบียนเพิ่มทุนในสาขาบริการมากขึ้น มูลค่าทุนจดทะเบียนนิติบุคคลเพิ่มทุนสูงขึ้น และดัชนีราคาหุ้นภาคบริการในตลาดหลักทรัพย์ขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่ปัจจัยที่ลดลง เช่น จำนวนนิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งใหม่สุทธิ และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศภาคบริการ
- ทำความรู้จักบัตรวิสดอมกสิกรไทย ต้องรวยแค่ไหนถึงถือบัตรได้
- สนามบินเยอรมนีป่วน ! การบินไทยยกเลิกเที่ยวบินแฟรงก์เฟิร์ต-มิวนิก 26-27 มี.ค.
- เปิดวิธีลงทะเบียน เลือกตั้งล่วงหน้า 2566 มีขั้นตอนอย่างไร ?
เมื่อพิจารณา ภาคบริการในรายสาขา จะพบว่าขยายตัวเกือบทุกสาขา โดยสาขาที่ขยายตัวเร่งขึ้น ประกอบด้วย 4 สาขา คือ การก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ กิจกรรมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ และการศึกษา ส่วนสาขาที่ยังคงขยายตัวแต่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ประกอบด้วย 7 สาขา คือ การขายส่งและการขายปลีกการซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย กิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ และศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ ขณะที่สาขาที่หดตัวมีเพียง 2 สาขา คือ กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน และ กิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ
นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวเพิ่มเติมถึงประเด็นความเคลื่อนไหวในภาคบริการที่น่าสนใจในเดือนมกราคม 2561 เช่น สาขาอสังหาริมทรัพย์ ยังเป็นสาขาที่เติบโตสูงสุดที่ร้อยละ 24 ส่วนสาขาก่อสร้าง เริ่มมีการขยายตัวมากขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.9 โดยเห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของทุนจดทะเบียนของนิติบุคคลในธุรกิจก่อสร้างมีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าการจ้างงานจะหดตัวก็ตาม ในขณะที่สาขาการศึกษาที่ขยายตัวถึงร้อยละ 22 มีการจ้างงานมากขึ้นด้วย แต่ว่าทุนจดทะเบียนของนิติบุคคลจะไปกระจุกตัวอยู่ที่การศึกษาด้านการกีฬาและนันทนาการ ไม่ใช่การศึกษา mainstream
สำหรับสาขาการขายส่งและขายปลีก ขยายตัวร้อยละ 5.5 ชะลอลงจากร้อยละ 15.9 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากมีการเร่งขยายการลงทุนในช่วงปีที่ผ่านมาเพื่อรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยปัจจัย/ตัวชี้วัดต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเกือบทุกตัว เช่น จำนวนนิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งใหม่สุทธิ มูลค่าทุนจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่สุทธิ และมูลค่าทุนจดทะเบียนนิติบุคคลเพิ่มทุน นอกจากนี้ ดัชนีราคาหุ้นสาขาการขายส่งและขายปลีก และดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMEs ภาคการค้าและบริการคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าก็ขยายตัวดี สะท้อนถึงภาพรวมสาขาการขายส่งและขายปลีกยังมีแนวโน้มขยายตัวดี ขณะที่ธุรกิจ E-Commerce ซึ่งส่วนมากเป็นธุรกิจ SME พบว่าผู้ประกอบการรายเดิมมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนนิติบุคคลมากขึ้น แต่ผู้ประกอบการใหม่ยังมีการจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ค่อนข้างน้อย
“ดิฉันคิดว่า ภาครัฐน่าจะเร่งการรสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ E-Commerce มีการจดทะเบียนนิติบุคคลมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการติดตามให้การช่วยเหลือและพัฒนาผู้ประกอบการอย่างตรงจุดเพื่อรองรับการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ซึ่งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ เราก็ได้ยกร่าง พ.ร.บ.ใหม่ที่เปิดโอกาสให้บุคคลคนเดียวสามารถจัดตั้งเป็นนิติบุคคลได้ ขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาอยู่ ซึ่งถ้าออกมาได้เร็ว ก็จะช่วยผู้ประกอบการไทยได้เร็วขึ้น” นางสาวพิมพ์ชนกกล่าว
สำหรับสาขาสำคัญอื่น ๆ เช่น สาขาสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ (14.2%) สาขาที่พักแรมและร้านอาหาร (4.6%) สาขาการขนส่งและสถานที่จัดเก็บสินค้า (6.2%) และสาขาการเงินและการประกันภัย (3.9%) ขยายตัวในอัตราที่น่าพอใจ โดยกลุ่มสุขภาพและท่องเที่ยวมีการจ้างงานมากขึ้น และส่วนใหญ่เป็น SME ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีว่า เศรษฐกิจฐานรากมีการขยายตัวในภาคบริการ ส่วนสาขาการขนส่ง พบว่าการขยายตัวของธุรกิจกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการค้าและการส่งออก ซึ่งยืนยันว่าการส่งออกของไทยยังไปได้อย่างเข้มแข็ง
สำหรับแนวโน้มภาวะการค้าภาคบริการในปี 2561 นางสาวพิมพ์ชนกระบุว่า “คาดว่าภาคบริการจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ตามแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศ สำหรับสาขาบริการที่มีศักยภาพ และแนวโน้มขยายตัวได้ดี ได้แก่ สาขาอสังหาริมทรัพย์ สาขาบริการทางการเงิน สาขาสุขภาพ สาขาขายส่งและการขายปลีก และสาขาก่อสร้าง โดยสาขาอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มขยายตัวตามเศรษฐกิจของประเทศ และสาขาสุขภาพมีแนวโน้มขยายตัวที่ดีตามกระแส Medical Tourism ซึ่งคาดว่าในระยะต่อไปจะได้รับการตอบรับจากกลุ่มนักลงทุนมากขึ้น ทั้งในแง่ของการลงทุนและการทำการตลาดด้านสุขภาพ ในขณะที่สาขาก่อสร้างมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการลงทุนภาครัฐและเอกชนที่ยังมีแผนการลงทุนใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ประเด็นที่อยากติดตามเพิ่มเติมคือ เรื่องการจ้างงาน ซึ่งตัวเลขเบื้องต้นที่ได้รับชี้ว่า การจ้างงานในภาคบริการขยายตัวประมาณร้อยละ 8.3 ในเดือนมกราคม ซึ่งถือว่าน่าพอใจ แต่ก็อยากจะให้ขยายตัวได้มากกว่านี้ เพื่อให้ภาคบริการมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างเข้มแข็งต่อไป