
คอลัมน์ : สัมภาษณ์
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ประชุมหารือกับภาคเอกชน ถึงการ ส่งออกของไทยในครึ่งปีหลัง 2566 มองว่าโอกาสการส่งออกไทยในครึ่งปีหลังนี้จะโตเป็นบวก ขณะที่ในครึ่งปีแรกอาจจะหดตัว เนื่องจากผู้นำเข้ายังคงมีสต๊อกสินค้าทำให้คำสั่งซื้อชะลอตัว ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม โดยเชื่อว่าในเดือนเมษายน 2566 นี้ การส่งออกจะขยายตัวไปในทิศทางที่ดี รวมไปถึงในครึ่งปีหลัง
“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ถึงโอกาสและปัจจัยในการส่งออกของไทย รวมไปถึงกิจกรรมส่งเสริมที่กรมได้วางแผนเพื่อผลักดันการส่งออกให้โตตามเป้าหมาย 1-2%
ประชุมทูตพาณิชย์ในรอบ 3 ปี
กรมได้เรียกให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ทั้ง 58 แห่งทั่วโลกเข้าร่วมประชุมหารือถึงแผนการผลักดันการส่งออก ปัจจัยบวก-ลบที่จะกระทบการส่งออกของไทย รวมไปถึงกิจกรรมที่เตรียมไว้ในการส่งเสริมการส่งออกของไทยในปี 2566 นี้ อีกทั้งจะได้ประเมินตัวเลขการส่งออกในรายประเทศอีกด้วย
การประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลกที่จะมีขึ้นในปลายเดือนพฤษภาคม 2566 นี้ นับว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีที่จะมีการประชุมแบบเจอหน้ากันที่ประเทศไทย โดยที่ผ่านมาจะประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องของโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถที่จะเดินทางมาเข้าร่วมประชุมกันได้ กรมถือโอกาสที่จัดงานแสดงสินค้าอาหาร จึงเรียกให้มีการประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลก เพื่อรับมอบนโยบายและรับฟังปัญหาและแผนผลักดันการส่งออก
ปัจจัยกระทบส่งออก 2566
ปัจจัยที่ภาคเอกชนผู้ส่งออกให้ความกังวล โดยเฉพาะสถานการณ์ของสถาบันทางการเงิน แบงก์ในสหรัฐล้ม มองว่าจะไม่มีปัญหาหรือกระทบต่อการส่งออกไทยโดยตรงมากนัก แต่ก็ยอมรับว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการจับจ่ายซื้อสินค้า เพราะมีความกังวลในเรื่องของการเงิน ทั้งนี้ กรมอาจจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะอาจจะมีผลต่อเรื่องของการชะลอคำสั่งซื้อ หรือการขยายเครดิตเทอมออกไปได้ แต่ปัจจุบันได้มีการแก้ไขปัญหาแล้ว
การบังคับใช้มาตรการ CBAM (มาตรการการจัดทำกลไกการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน) ของยุโรปที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 แต่จะมีการบังคับใช้จริงจังคือปี 2568 แต่ในระหว่างนั้น เปิดโอกาสให้ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการได้ปรับตัว เพื่อรองรับมาตรการ โดยเฉพาะใน 7 กลุ่มสินค้าสำคัญ เช่น เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า ไฮโดรเจน และสินค้าปลายน้ำบางรายการ อาทิ นอตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็กกล้า
ส่วนจะมีการขยายไปในสินค้าอื่นหรือไม่ ยังต้องรอประเมินและติดตามกฎหมายลูกที่จะมีรายละเอียดในการบังคับใช้ เพราะต้องดูว่าในกรณีที่เป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกัน จะมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยหรือไม่ โดยตอนนี้ยังไม่สามารถประเมินอะไรได้ ยังต้องรอในรายละเอียดในวันที่บังคับใช้แล้ว
ขณะที่มาตรการกีดกันทางการค้าทีไม่ใช่ภาษี (NTB) อื่น ๆ ก็ยังต้องตาม โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยน ล่าสุดค่าเงินเยนอ่อนค่าก็ส่งผลต่อการนำเข้าสินค้าไก่จากไทยลดลง ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศซึ่งมีแนวโน้มจะกลับมาอีกครั้ง โดยเฉพาะจีนกับสหรัฐ เป็นต้น ส่วนปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อการส่งออกของประเทศไทยยังคงอยู่ในเรื่องของค่าระวางเรือ ที่ปรับลดลงก่อนสถานการณ์โควิด-19 สินค้าส่งออกในหลายอุตสาหกรรมยังเป็นไปในทิศทางที่ดี ปัญหาขาดแคลนชิปลดลง
สินค้าเด่น-ด้อย
สินค้าเด่นในการส่งออกปี 2566 นี้ อุตสาหกรรมอาหารยังเป็นตัวเด่นของการส่งออกไทย และชิ้นส่วนยานยนต์ ดูได้จากภาพการส่งออกรถยนต์ที่มีการเติบโต สินค้าเกษตร สินค้าผลไม้ วัสดุก่อสร้าง ส่วนสินค้าที่ส่งออกจะไม่โดดเด่น คือเม็ดพลาสติกเนื่องจากจีนมีนโยบายพึ่งพาสินค้าภายในประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมด้วย
และเพื่อผลักดันการส่งออกสินค้าของไทยในปีนี้ กรมได้เตรียมกิจกรรมส่งเสริมการตลาดไว้ทั้งสิ้น 195 โครงการ กับ 450 กิจกรรม รวม 39,821 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ส่งออกและผู้ประกอบการผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ในการส่งออกของไทยในปีนี้ ให้มีการเติบโตไปได้ตามเป้าหมาย รวมถึงการบุกตลาดใหม่ เช่น บราซิล อาร์เจนตินา และชิลี
สำรวจเส้นทางรถไฟลาว-จีน
กรมร่วมกับหน่วยงานกระทรวงพาณิชย์จะนำคณะเดินทางไปยังเมืองคุนหมิง ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 27-29 มีนาคม 2566 เพื่อติดตามและสำรวจการใช้เส้นทางรถไฟลาว-จีน ในการส่งออกสินค้าโดยเฉพาะผลไม้ไทย ซึ่งจะมีการประชุมหารือกับผู้นำเข้า บริษัทโลจิสติกส์ สมาคมนักธุรกิจไทยในจีน เพื่อรับฟังปัญหาและอุปสรรคในการขนส่งในเส้นทางดังกล่าวพร้อมทั้งจะมีการหารือกับผู้บริหารด่านศุลกากรของจีนด้วย และจะไปสำรวจตลาดค้าส่งผลไม้ของจีน อย่างไรก็ดี การส่งออกผลไม้ของไทยในจีนแล้ว กรมก็อยากให้ผู้ส่งออกและเกษตรกรรักษาคุณภาพของผลไม้ไทย
รวมไปถึงหาตลาดใหม่เพิ่มมากขึ้น เพราะการพึ่งพาตลาดเดียว หากผู้นำเข้าลดการสั่งซื้อ อาจจะมีผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้ไทยได้ อย่างเช่นตลาดทุเรียน 88% ไทยส่งออกไปจีนปริมาณต่อปีอยู่ที่ 1,000,000 ตัน เวียดนามส่งออกไปจีนปริมาณ 80,000 ตัน ซึ่งกรมเองก็มีโครงการในการส่งเสริมภาพลักษณ์ผลไม้ไทยที่มีประโยชน์และดีต่อสุขภาพ ซึ่งมอบหมายให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลกช่วยกันส่งเสริมตลาดผลไม้ไทยให้มากขึ้นด้วย เพื่อลดการพึ่งพาและขยายตลาดใหม่เพิ่มขึ้น
และในวันที่ 23-27 พฤษภาคม 2566 นี้ จะมีงานแสดงสินค้าอาหาร 2566 THAIFEX-Anuga Asia 2023 กลับมาอีกครั้งหลังจากโควิด-19 คาดว่าจะมีผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมกว่า 2,000 บริษัท 40 ประเทศ
สิ่งที่น่าจับตาคือ การเข้าร่วมงานของจีนที่มีจำนวนมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงจีนให้ความสนใจในตลาดของไทยและตลาดภูมิภาคนี้ จึงเป็นโอกาสของผู้ส่งออกไทยในการผลักดันสินค้าไทยไปสู่จีน และคาดว่าปีนี้จะมีประเทศใหม่ ๆ เข้าร่วมงานอย่างมากมาย