เงินเฟ้อก.พ.61 ขยายตัว 0.42% อาหารเครื่องดื่มลดรอบ 8 เดือน

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนกุมภาพันธ์ 2561 เท่ากับ 101.21ลดลง 0.23% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 0.42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 เดือน ก.ค. 2560 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อ 2 เดือนแรกของปี 2561 สูงขึ้น 0.56% ซึ่งสะท้อนว่าเงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลางที่รัฐบาลกำหนดไว้ 2.5% บวกลบ 1.5%

สาเหตุสำคัญที่เงินเฟ้อเทียบสูงขึ้น 0.42% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการปรับขึ้นของดัชนีราคาหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ปรับขึ้น 0.74% โดยเฉพาะราคาสินค้าหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ปรับขึ้น 5.95% ตามอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้น รองลงมาคือ หมวดเคหสถานปรับขึ้น 1.34% ขณะที่หมวดบันเทิงและการอ่านปรับขึ้นเพียง 0.57% และหมวดตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ปรับขึ้น 0.53% ส่วนหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ปรับขึ้นน้อยเพียง 0.06%

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ปรับลดลง 0.16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 8 เดือน โดยสินค้าที่ปรับราคาลดลง ได้แก่ ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ และเครื่องประกอบอาหาร ซึ่งปรับตัวลดลงตามราคาน้ำตาล โดยหากคำนวณเฉพาะราคาน้ำตาลปรับลดลง 1.75% แต่มีสินค้าในหมวดนี้ที่ปรับราคาขึ้น คือ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารบริโภคนอกบ้าน-ในบ้าน

ทั้งนี้ สนค. คาดการณ์เป้าหมายเงินเฟ้อ ทั้งปี 2561 อยู่ที่ 0.7-1.7% ซึ่งอยู่ภายใต้สมมุติฐานการขยายตัวเศรษฐกิจทั้งปี 2561 อยู่ที่ 3.6-4.6% ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 55-65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยทิศทางเงินเฟ้อในไตรมาส 1 ช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.อาจจะลดลงเล็กน้อย และอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในไตรมาส 2 ซึ่งมีเทศกาลสงกรานต์อาจมีการจับจ่ายมากขึ้น ต้องรอดูอีกครั้งว่าจะมีผลมากน้อยเพียงใด

“เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นผลจากความต้องการการบริโภคที่เพิ่มขึ้น และการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เป็นสัญญาณที่ดีของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และผลจากการดำเนินมาตรการของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา นโยบายบัตรสวัสดิการประชารัฐยังควรคงไว้”