แบบประเมิน SEA คืออะไร ศุภกิจ นันทะวรการ ไขข้อสงสัย

แบบประเมิน SEA คืออะไร ศุภกิจ นันทะวรการ ไขข้อสงสัย

การทำแบบประเมิน SEA จัดเป็นศัพท์ใหม่ของผู้คนในแวดวงพลังงาน หลังจากที่ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้รับ “ไฟเขียว” ให้ลงนามในบันทึกความตกลงยุติโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา กับเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเล

โดย 1 ในเงื่อนไขของการยุติโรงไฟฟ้าถ่านหินก็คือ การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ หรือ Strategic Environmental Assessmen : SEA เพื่อให้ผลศึกษาในรายงานแบบดังกล่าวเป็นเครื่องตัดสินใจว่า พื้นที่กระบี่-เทพา มีความเหมาะสมจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 2,800 เมกะวัตต์หรือไม่

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์  “ศุภกิจ นันทะวรการ” ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเพื่อไขข้อสงสัยว่า แท้จริงแล้วรายงาน SEA คืออะไร

Q : แบบประเมิน SEA คืออะไร

เพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ แบบ SEA ก็คือ แบบประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์ โดยจะเป็นการศึกษาพื้นที่เป้าหมายที่จะมีการพัฒนาโครงการใด ๆ ก็ตามในภาพใหญ่ แบบครบถ้วน “ทุกมิติ” ไม่ว่าจะเป็นมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงสุขภาพความเป็นอยู่ เมื่อศึกษาครบทุกด้านแล้วก็จะได้คำตอบว่า ในพื้นที่นั้น ๆ จะมีกี่ทางเลือกให้ตัดสินใจ จะเดินหน้าพัฒนาโครงการที่เหมาะสมตามลำดับ ในขณะที่แบบประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) กับแบบประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) จะดูผลกระทบในระดับโครงการเท่านั้น

ในขณะนี้ผมได้งบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการจัดทำ SEA โครงการประเมินการพัฒนาที่ยั่งยืนเชิงยุทธศาสตร์ เป็นกรณียุทธศาสตร์พลังงานภาคใต้ 14 จังหวัด เช่น กระบี่-สงขลา-สุราษฎร์ธานี-ชุมพร และสตูล

ตอนนี้ได้เริ่มดำเนินการไปกว่าร้อยละ 60 ในการศึกษานั้นจะมีทั้งงานในรูปแบบเชิงวิชาการ การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ พร้อมทั้งให้ประชาชนในพื้นที่ที่เราต้องการศึกษาให้เข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด ก็จะใช้รูปแบบกิจกรรมเชิงเล่นเกม เช่น ให้แข่งกันวางแผนใช้พลังงานในชุมชนของตนเอง ซึ่งผู้ศึกษาก็จะได้รู้ถึงทัศนคติด้านพลังงานของคนในพื้นที่ได้อีกด้วย

Q : SEA ช่วยตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

รูปแบบการประเมินที่มีการใช้กันในปัจจุบันจะศึกษาเพื่อให้ได้เพียงคำตอบเดียว แต่การศึกษา SEA จะมีคำตอบชี้นำในหลายทางเลือก เพื่อให้ได้คำตอบที่ดีที่สุด หรืออาจจะนำแต่ละทางเลือกมาผสมผสานเพื่อให้แนวทางที่ดีที่สุดก็ได้ เช่น ในพื้นที่ภาคใต้สามารถพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมหนักได้หรือไม่ หรือควรเน้นไปที่อุตสาหกรรมการประมง และการท่องเที่ยว รวมถึงความต้องการใช้พลังงานในพื้นที่ภาคใต้จะเป็นอย่างไร โจทย์สำคัญของการศึกษา SEA ไม่ได้คำตอบเฉพาะเจาะจงว่าในพื้นที่ภาคใต้

จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้หรือไม่เท่านั้น แต่ยังบอกถึงทางเลือกพลังงานในประเภทอื่นด้วยว่าเป็นอย่างไร ซึ่งผลศึกษาอาจจะบอกว่า พื้นที่ภาคใต้อาจจะเหมาะกับพลังงานทางเลือกหรืออาจจะเหมาะสมที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ได้

Q : PDP ใหม่สอดคล้องยุทธศาสตร์

ใช่ มันต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ผมได้ยินว่าการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ของประเทศ หรือ PDP (power development plan) ที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ในระหว่างดำเนินการอยู่นั้น มีการศึกษาไปจนถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าเป็นรายภาค คือ ภาคเหนือ-กลาง-อีสาน-ภาคใต้ ตรงนี้ถือเป็นทิศทางที่ดี เพื่อจะทำให้เห็นภาพรวมทั้งหมดของแต่ละภาคว่าเหมาะที่จะพัฒนาพลังงานประเภทใด นอกจากนี้ยังช่วยให้ตัดสินใจในระดับนโยบายด้านพลังงานได้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันได้

Q : ใครเป็นคนบอกว่าต้องทำ SEA

ถ้าประเมินเบื้องต้น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เป็นหน่วยงานที่จัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอยู่แล้ว ฉะนั้นก็ควรเป็นผู้กำหนดว่า โครงการใดควรต้องศึกษาแบบประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ และที่สำคัญผมมองว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา ควรที่จะเป็นโครงการนำร่องเพื่อจัดทำรายงาน SEA กำหนดทิศทางด้านพลังงานให้กับพื้นที่ภาคใต้ได้สอดคล้องกับความเป็นจริงของพื้นที่มากที่สุด โดยหาก SEA ทำแล้วประสบความสำเร็จก็ควรต่อยอดไปยังโครงการใหญ่อื่น ๆ อย่างเช่น เหมืองแร่ เป็นต้น

Q : กลุ่ม IPP ต้องทำ SEA หรือไม่

เรื่องนี้ผมมองว่า ถ้าในกรณีที่เป็นโรงไฟฟ้าของเอกชนรายใหญ่ หรือ IPP โดยโครงการที่ไม่ได้มีประเด็นที่ถูกตั้งคำถาม อาจไม่จำเป็นต้องทำแบบประเมิน SEA แต่สำหรับโครงการโรงไฟฟ้า IPP ที่มีการตั้งคำถามจากสังคมก็อาจจะต้องจัดทำแบบประเมิน SEA โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าใหม่ที่กระจุกตัวในพื้นที่ภาคตะวันออกอาจจะต้องศึกษาแล้วว่า ควรขยายโรงไฟฟ้าในภาคตะวันออกเพิ่มเติมหรือไม่ หากมองในแง่ของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม


อย่างไรก็ตาม สังคมไทยอาจจะต้องใช้เวลาในการปรับตัว ไม่ว่าจะมีกฎหมายอะไรออกมาบังคับใช้ก็ตาม แบบประเมิน SEA จะเป็นชุดข้อมูลสำคัญก่อนที่ภาครัฐจะตัดสินใจว่า จะพัฒนาโครงการใด ๆ ขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นว่าในแต่ละพื้นที่นั้น “มันมีทางเลือก” อะไรบ้าง และยิ่งเมื่อมีหลากหลายทางเลือกก็จะยิ่งช่วยให้สามารถตัดสินใจเลือกในแนวทางที่ดีที่สุดได้