ชิงเค้กนำเข้า LNG 1.5ล้านตัน จับตาปตท.-สยามแก๊ส-กัลฟ์โดดประมูล

5 กลุ่มเอกชน-รัฐวิสาหกิจ โดดร่วมวงชิงเค้กขอนำเข้าก๊าซ LNG ให้ กฟผ. 1.5 ล้านตัน “สยามแก๊สฯ” จับมือ “กฟผ.อินเตอร์ฯ” รายใหญ่อย่างกัลฟ์ เอ็นเนอร์จีฯ-ปตท.ไม่พลาดจ่อยื่นข้อเสนอแข่งด้วย วงการพลังงานจับตาส่วนที่เหลืออีก 5-7 ล้านตัน อาจต้องนำเข้าเร็วขึ้น

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการธุรกิจพลังงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำร่องที่ 1.5 ล้านตัน/ปี เพื่อทดลองระบบก่อนที่กระทรวงพลังงานจะเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติอย่างเต็มรูปแบบต่อไปนั้น คาดว่าจะมีผู้สนใจยื่นข้อเสนอนำเข้าครั้งนี้รวม 5 กลุ่ม เช่น กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบริษัทในเครือของ กฟผ. เช่น บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO เป็นต้น โดยคาดว่าการนำเข้าก๊าซ LNG สำหรับลอตแรก กฟผ.ต้องการให้ผู้นำเข้าเป็นบริษัทคนไทยก่อน หลังจากนั้นการนำเข้าในลอตต่อไปจะเปิดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาแข่งขันได้

เมื่อประเมิน 5 กลุ่มที่สนใจเป็นผู้นำเข้าก๊าซ LNG ให้ กฟผ.นั้น บริษัท ปตท.ค่อนข้างได้เปรียบและมีความพร้อมทางด้านประสบการณ์ รวมถึงมีระบบสาธารณูปโภครองรับ คือ ท่าเรือคลังก๊าซ LNG และระบบท่อส่ง ของบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท. ในส่วนของบริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมิคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SGP ที่คาดว่าจะร่วมกับบริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ EGATi เพื่อยื่นขอนำเข้าก๊าซ LNG ด้วย ซึ่งสยามแก๊สฯได้ดำเนินการเจรจากับผู้รับสัมปทานแหล่งก๊าซ LNG ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกาไว้เบื้องต้นว่าจะเข้ามาขอถือหุ้นในแหล่งก๊าซ ขณะที่บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) พบว่ามีการเจรจาซื้อขายก๊าซเบื้องต้นกับผู้ผลิตก๊าซ LNG ในประเทศรัสเซียด้วยเช่นกัน

“ปริมาณ 1.5 ล้านตันที่ให้นำเข้านำร่องนั้น จะเป็นตัวพิสูจน์ว่าธุรกิจก๊าซในประเทศไทยจะเปิดเสรีได้จริงหรือไม่ เพราะธุรกิจก๊าซผูกขาดโดย ปตท.อยู่ ตอนนี้ผู้สนใจก็ลุ้นกันอยู่ว่าข้อกำหนดที่จะออกมาโดย กฟผ.นั้นจะเป็นอย่างไร และจะเข้าไปยื่นข้อเสนอแข่งกับ ปตท.ได้หรือไม่”

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ธุรกิจก๊าซ LNG กลายเป็นธุรกิจที่น่าสนใจเข้ามาลงทุนเป็นอย่างมาก เนื่องจากความต้องการใช้ยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะหากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาของ กฟผ.จะปรับเลื่อนการพัฒนาเข้าระบบ หรือในที่สุดอาจจะยกเลิกโครงการเพราะการต่อต้านจากประชาชนนั้น กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP (power development plan) ใหม่ และต้องปรับแผนก๊าซธรรมชาติของประเทศ (gas plan) เพื่อให้สอดคล้องกับแผน PDP ด้วย ฉะนั้นอาจจะมีการพิจารณานำเข้าก๊าซ LNG ในส่วนที่เหลืออีกประมาณ 5-7 ล้านตันให้เร็วขึ้น ซึ่งปริมาณในส่วนนี้คาดว่าจะมีการเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ามาประมูลเป็นจำนวนมาก

ขณะที่นายถาวร งามกนกวรรณ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. กล่าวว่า ขณะนี้ กฟผ.อยู่ในระหว่างเตรียมความพร้อมนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวเพื่อมารองรับการใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เรียกผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาให้ความเห็น เพื่อกำหนด “เงื่อนไขกลาง” ร่วมกัน เนื่องจากธุรกิจก๊าซ LNG เป็นเรื่องใหม่สำหรับ

กฟผ.จึงต้องสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงบริษัทที่ปรึกษาที่มีความรู้ในธุรกิจนี้โดยเฉพาะ ซึ่งก่อนที่จะมีการเปิดให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอนำเข้าก๊าซ LNG นั้น ผู้ประกอบการแต่ละรายจะต้องลงนามในข้อตกลงกรอบสัญญาว่าจะซื้อขายหรือ MSPA (master sale and purchase agreement) กับ กฟผ.ก่อน ส่วนบริษัทในเครือที่ กฟผ.ถือหุ้นใหญ่อย่างเอ็กโก้ และราชบุรีโฮลดิ้งนั้น ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ ยกเว้นในกรณีที่มีความร่วมมือกับเอกชนรายอื่น ๆ สามารถเข้าร่วมเสนอเป็นผู้นำเข้าก๊าซ LNG ให้กับ กฟผ.ได้

ทั้งนี้ สำหรับความคืบหน้าของโครงการคลังก๊าซลอยน้ำ หรือ FSRU (floating storage regasification unit) ของ กฟผ.ในพื้นที่ทะเลอ่าวไทยเพื่อรองรับการนำเข้าก๊าซ LNG ในอนาคตนั้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่รอบโครงการจัดทำรายงานแบบประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) เนื่องจากจะต้องมีการวางท่อในทะเลมาจนถึงบนบกเพื่อมายังโรงไฟฟ้าที่ต้องการใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าโครงการดังกล่าวจะใช้เวลาในการพัฒนาประมาณ 6 ปี

“การนำเข้าก๊าซ LNG ถือเป็นงานใหญ่สำหรับ กฟผ.จึงต้องศึกษาและเรียนรู้ไปในตัว อย่างไรก็ตาม ในอนาคต กฟผ.ยังคงมีความต้องการใช้ก๊าซ LNG อย่างต่อเนื่อง ทั้งในโรงไฟฟ้าเดิมที่มีอยู่ และโครงการใหม่ ๆ รวมถึงโรงไฟฟ้าส่วนทดแทนโรงเก่าที่จะทยอยหมดอายุลงด้วย เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศ”


ด้านนายนิวัติ อดิเรก รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ CLMVT บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO กล่าวว่า ตามกฎหมายยังไม่แน่ชัดว่าให้เอ็กโก้เข้าร่วมเสนอเป็นผู้นำเข้าก๊าซ LNG ให้ กฟผ.ได้หรือไม่ คงต้องมีการพิจารณาในข้อกฎหมายให้แล้วเสร็จก่อน เพราะทั้ง กฟผ.และเอ็กโก้ต่างกังวลในประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนได้ เว้นแต่ในกรณีที่มีเอกชนมาร่วมเป็นพันธมิตรกับเอ็กโก้และร่วมกันยื่นขอนำเข้าก๊าซสามารถดำเนินการได้