ทรัมป์งัดม.232-ภาษีเซฟการ์ด จับตาเหล็กโดนถล่มวิ่งล็อบบี้หอสหรัฐ

ภาษีเซฟการ์ด
ทรัมป์เคาะมาตรการป้องอุตสาหกรรมภายในเพียบ ทั้งเหล็ก-เครื่องซักผ้า-โซลาร์เซลล์-หนังยาง-กรดซิทริก “ไทย” จ่ออุทธรณ์ WTO เอกชนล็อบบี้หอการค้าสหรัฐช่วย หวั่นโซลาร์เซลล์คุณภาพต่ำถล่มไทย

นายวันชัย วราวิทย์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีคำสั่งให้แก้ไขความเสียเปรียบทางการค้า โดยให้ใช้มาตรา 232 กฎหมายการขยายการค้า(Trade Expansion Act 1962) อาศัยอำนาจประธานาธิบดีในการลด/จำกัดการนำเข้าสินค้าที่มีการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจนอาจก่อให้เกิดภัยคุกคามกระทบต่อความมั่นคงภายในของสหรัฐ (Nation Security) ซึ่งมาตรานี้ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ความเสียหาย และมาตรา 201 ที่กำหนดให้ USITC พิจารณาว่า อุตสาหกรรมภายในได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าหรือไม่

ล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้ประกาศใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) กับเครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ และโซลาร์เซลล์ 2.5 จิกะวัตต์แรก

นอกจากนี้ยังเตรียมประกาศมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) กรดซิทริก และเกลือซิเตรดหลังจากออกผลไต่สวนเบื้องต้น 4.77-15.73% คาดว่าจะประกาศผลขั้นที่สุดในวันที่ 15 พ.ค. 61 และเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการ AD กับหนังยางรัดของจากไทย เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา และเตรียมประกาศโควตาและภาษีนำเข้าตามมาตรา 232 กับสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากทั่วโลกในเดือนเมษายนนี้อีกด้วย

“ขณะนี้ทางกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศอยู่ระหว่างศึกษาเพื่อหาข้อสรุปว่าจะยื่นอุทธรณ์เซฟการ์ดโดยผ่านองค์การการค้าโลก (WTO) หรือไม่ โดยต้องวิเคราะห์ว่ามาตรการนี้ผิดหลักการของ WTO หรือไม่ โดยไทยอาจจะยื่นเอง หรืออาจร่วมกับประเทศอื่นที่ได้รับผลกระทบเช่นกันก็ได้”

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการสภาหอการค้าไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การใช้มาตรการเซฟการ์ดและเอดีของสหรัฐ ไม่เกินความคาดหมายของทั่วโลกที่มองว่ามาตรการนี้เป็นกลยุทธ์ (strategy) ของทรัมป์ในการใช้เป็นเครื่องมือเจรจาต่อรองในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ โดยเป้าหมายหลักน่าจะอยู่ที่สหภาพยุโรป ส่วนไทยคงรับผลกระทบไม่มากนัก ยังประเมินว่าภาพรวมการส่งออกปี 2561 น่าจะขยายตัว 6-8% สัดส่วนตลาดสหรัฐประมาณ 10%

ต่อประเด็นที่ไทยจะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรร่วมฟ้องสหรัฐ (Third Party) ภายใต้ WTO หรือไม่นั้น มองว่า ไทยต้องประเมินผลกระทบจากการส่งออกสินค้าที่ถูกใช้มาตรการอย่างรอบคอบทุกด้าน โดยต้องวางตัวเป็นกลางในเวทีการเมืองระหว่างประเทศด้วย

“ที่ผ่านมาไทยมีนโยบายการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ (strategic partnership) ในส่วนเอกชนก็แสดงความกังวลผ่านเวที American-Thai Chamber of Commerce ซึ่งเป็นเวทีร่วมระหว่างหอการค้า เพราะขณะนี้สินค้าส่งออกไปสหรัฐ สัดส่วน 40% เป็นของผู้ส่งออกสหรัฐที่มาลงทุนในไทย

นายดนุชา น้อยใจบุญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ AKR ผู้ผลิตโซลาร์เซลล์ไทย กล่าวว่า สหรัฐใช้มาตรการเซฟการ์ดโซลาร์เซลล์จีน ทำให้ส่งออกไปตลาดสหรัฐไม่ได้ จีนอาจสินค้าดังกล่าวมาที่ไทยมากขึ้น เพราะได้รับสิทธิลดภาษีนำเข้า 0% (ตามกรอบความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี) อีกทั้งราคาโซลาร์เซลล์จีนถูกกว่าไทย 20% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตโซลาร์เซลล์ไทยที่มีประมาณ 6-7 ราย และสินค้าจีนคุณภาพต่ำ เพราะ เท่าที่ทราบโรงงานจีนที่ได้มาตรฐานเพียง 50 โรงจากทั้งหมด 500 โรง

“ผู้ผลิตไทยต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) แต่สินค้านำเข้ากลับไม่ต้องตรวจสอบอะไรเลย น่าห่วงว่าสินค้าราคาถูกคุณภาพต่ำจากจีนจะทะลักเข้ามาตีตลาดไทยสร้างความเสียหายกับผู้ผลิตไทยและประชาชน ภาครัฐบาลควรออกประกาศให้โซลาร์เซลล์นำเข้าต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐาน โดยสถาบันไฟฟ้า กระทรวงอุตสาหกรรม หรือประกาศภายใต้มาตรา 44 ภายใต้รัฐธรรมนูญ”