พาณิชย์เกาะติดผลกระทบกลุ่มซีพีทีพีพี จับมือขยายการค้าโลก

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership–CPTPP) หรือ TPP เดิม 11 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ได้ร่วมกันลงนามความตกลง CPTPP ณ ประเทศชิลี ภายหลังจากที่สมาชิกทั้ง 11 ประเทศได้หารือร่วมกันเรื่อยมานับจากที่สหรัฐได้ถอนตัวเมื่อปี 2560 ซึ่งหลังจากนี้สมาชิก CPTPP จะเริ่มดำเนินกระบวนการภายในประเทศตามเงื่อนไขของความตกลงฯ ที่กำหนดให้มีผลบังคับใช้ 60 วัน ภายหลังจากที่สมาชิกอย่างน้อย 6 ประเทศ หรือเกินกว่า 50% ของจำนวนสมาชิกยื่นสัตยาบันให้การรับรอง CPTPP โดยคาดว่าสมาชิกน่าจะเร่งผลักดันให้ CPTPP มีผลบังคับใช้ได้ภายในปี 2561

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ระหว่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ณ เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม สมาชิกทั้ง 11 ประเทศได้เห็นชอบหลักการสำคัญของความตกลงฯ และให้เปลี่ยนชื่อจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) เป็นความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และได้ประกาศสรุปผลการจัดทำความตกลง CPTPP อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561

สำหรับสาระสำคัญความตกลง CPTPP ได้นำเอาข้อบทของความตกลง TPP เดิมมาใช้บังคับ โดยชะลอการมีผลบังคับใช้ในบางประเด็นที่สำคัญ อาทิ การขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรอันเกิดจากความล่าช้าอย่างไม่สมเหตุสมผลของหน่วยงานขึ้นทะเบียน การคุ้มครองข้อมูลทดสอบยา การขยายระยะเวลาการคุ้มครองลิขสิทธิ์ (จาก 50 ปี เป็น 70 ปี) และการให้นักลงทุนฟ้องรัฐภายใต้สัญญาการลงทุนที่ทำระหว่างรัฐกับเอกชน เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่สหรัฐผลักดันให้มีการบัญญัติไว้ในความตกลง TPP เดิม

ที่ผ่านมามีประเทศต่างๆ แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เพิ่มเติม โดย CPTPP มิได้กำหนดเงื่อนไขในการรับสมาชิกใหม่ว่าจะต้องมีที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเหมือนที่ TPP เคยกำหนดเอาไว้ นอกจากนี้ แม้สหรัฐจะถอนตัวไปเมื่อปี 2560 แต่ก็อาจพิจารณากลับเข้าร่วม CPTPP ได้อีก หากสหรัฐสามารถบรรลุข้อตกลงที่เป็นประโยชน์กับสหรัฐมากกว่าที่เคยตกลงใน TPP เดิม

ทั้งนี้ ความตกลง CPTPP ถือเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้า บริการ การลงทุน รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้า อาทิ ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) การแข่งขันทางการค้า และรัฐวิสาหกิจ (State-owned-enterprise: SOE) เป็นต้น ซึ่งถือเป็นความตกลงการค้าเสรียุคใหม่ที่มีมาตรฐานสูง กระทรวงพาณิชย์ได้มอบให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศศึกษาติดตามการบังคับใช้ความตกลง CPTPP อย่างใกล้ชิด และหารือรับฟังความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอความเห็นเพื่อกำหนดแนวทางที่เหมาะสมของไทยในเรื่องความตกลง CPTPP ต่อไป

โดยปี 2560 ขนาดเศรษฐกิจรวมของ CPTPP 11 ประเทศ มีจีดีพีรวมมูลค่า 10.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ 13.5% ของจีดีพีโลก มีประชากรรวม 495 ล้านคน หรือ 6.8% ของประชากรโลก โดยปี 2560 การค้าระหว่างไทยกับสมาชิก CPTPP 11 ประเทศมีมูลค่า 134.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 29.3% ของการค้ารวมของไทย โดยไทยส่งออกไป CPTPP 11 ประเทศ เป็นมูลค่า 70.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 29.7% ของการส่งออกไทยไปโลก และไทยนำเข้าจาก CPTPP 11 ประเทศ เป็นมูลค่า 64.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 28.9% ของการนำเข้าไทยจากโลก โดยไทยได้เปรียบดุลการค้ากับ CPTPP 11 ประเทศ เป็นมูลค่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ

 

ที่มา : มติชนออนไลน์