นับหนึ่ง “อินโนเวชั่น วัน” หนุนเอกชนแข่งขันสู้ตลาดโลก

กองทุน นวัตกรรม

การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกำลังเป็นประเด็นที่ภาคเอกชนและรัฐให้ความสำคัญมากขึ้น โดยล่าสุดสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นภาคเอกชนรายแรกที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มูลค่า 1,000 ล้านบาท ในการดำเนินการ “กองทุนอินโนเวชั่น วัน”

เป้าหมายเพื่อสนับสนุน startup ที่มีนวัตกรรมเชื่อมกับผู้ประกอบการ SMEs ในเครือข่าย ส.อ.ท. ที่มีความต้องการนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุนธุรกิจ และผลักดัน startup เป็นยูนิคอร์นในประเทศไทย วางกรอบระยะเวลา 3 ปี เริ่มปี 2566 ใน 5 โครงการ ส่วนหนึ่งผ่านกลไกของ บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด ที่จะช่วยเข้ามาส่งเสริมการลงทุนใน early-stage และการวิเคราะห์ความเหมาะสมด้านนวัตกรรม

เสริมแกร่ง นวัตกรรม

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ส่งผลทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศกำลังลดลง ซึ่งการเร่งพัฒนานวัตกรรมจะเป็นแนวทางในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย

เกรียงไกร เธียรนุกุล
เกรียงไกร เธียรนุกุล

“วันนี้เรามีโจทย์จากภาคอุตสาหกรรมที่ชัดเจน มุ่งไปที่ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) เศรษฐกิจ BCG ซึ่งมีต้นแบบการนำไบโอเทคโนโลยีไปปรับใช้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ และสุดท้ายคือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ภาคอุตสาหกรรมต้องไปสู่ความยั่งยืน พลังงานสีเขียว และพลังงานสะอาด ภาคอุตสาหกรรมพร้อมที่จะทำงานกับนักวิจัย ขณะที่ SMEs ต้องพัฒนาสู่การเป็น Smart SMEs โดยจะต้อง go digital, go innovation และ go global เช่นกัน”

ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า กองทุนอินโนเวชั่นวัน จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ startup ไทยมีโอกาสเข้าถึงตลาด โดยออกแบบโมเดลการดำเนินงาน เพื่อให้ภาคเอกชนเข้าร่วมทุนกับภาครัฐ ทั้งแผนการลงทุน แผนการดำเนินงานโครงการ การจัดเตรียมกรอบและแผนการเบิกจ่ายเงินเพื่อจับคู่กับกรอบวงเงินที่ภาคีภาคเอกชนแจ้งมา โดยโครงการจะจัดหา SMEs ที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีของ startup

ความสามารถของนักวิจัยไทยในยามวิกฤตที่สามารถพัฒนางานวิจัยต่าง ๆ ได้ดี ทั้งการพัฒนาชุดตรวจ วัคซีน และห้องความดันลบต่าง ๆ ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักการคิดจากเดิมที่เคยแต่ซื้อเทคโนโลยี มาเป็นการพัฒนาได้เอง เราไม่ได้ปฏิเสธความช่วยเหลือจากต่างประเทศที่จะทำให้บางจุดเกิดเร็วขึ้น

แต่มีข้อแม้ว่าต้องเป็นความช่วยเหลือที่ทำให้เราเข้มแข็งขึ้น และอยากให้คนไทยเชื่อว่าเราสามารถเป็นชาติวิทยาศาสตร์ได้ อย่างเช่น การสร้างยานอวกาศ ที่อยากให้ทุกคนรอดูความสำเร็จในอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า รวมถึงความสามารถด้านยา เครื่องมือการแพทย์ ด้านการเกษตร การสร้างโรงงานต้นแบบ รวมถึงการสร้างศูนย์วิจัยร่วมกับ 8 มหาวิทยาลัย

ซีอีโอโชว์เคสนวัตกรรม

ขณะเดียวกัน ในงาน “บพข. สร้างสรรค์เศรษฐกิจไทยเชื่อมโลกด้วยวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2566” หัวข้อ “The CEO views : Thailand Competitiveness, Achievement through Research and Innovation” มีการแลกเปลี่ยนความเห็นจากผู้บริหารระดับซีอีโอหลายองค์กรถึงการเพิ่มความสามารถแข่งขันด้วยการพัฒนานวัตกรรม

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัททำธุรกิจอาหารแช่แข็งมาเกือบ 50 ปี ต้องพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันตลอดเวลา สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต บริษัทเริ่มลงทุนด้านนี้เมื่อปี 2557 ปัจจุบันมีนักวิจัยกว่า 100 คน และมีแพลตฟอร์มให้นักวิจัยร่วมมือกันในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ความท้าทายของอุตสาหกรรมนี้ คือผลกระทบจากสงคราม ทำให้ต้นทุนการผลิตต่าง ๆ สูงขึ้น จะเอานวัตกรรมเข้ามาช่วยได้อย่างไร

ธีรพงศ์ จันศิริ
ธีรพงศ์ จันศิริ

“วันนี้ต้องมองถึงการไปแข่งขันในตลาดโลก จะช่วยเอกชนให้ออกไปต่อสู้กับทั่วโลกได้อย่างไร ด้วยงบประมาณประเทศที่มีจำกัด ดังนั้น ต้องจัดลำดับความสำคัญว่ายุทธศาสตร์ประเทศไทยจะไปทางไหน เพื่อให้สามารถใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาครัฐควรต้องเข้าใจบริบทโลกและเข้าใจบทบาทตัวเองว่าไม่ได้เป็นผู้กำกับกฎเกณฑ์ แต่ควรเป็นผู้สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน และปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภาครัฐทั้งด้านความรวดเร็วและความต่อเนื่อง”

สร้างระบบนิเวศนวัตกรรม

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มบริษัทน้ำตาลมิตรผล กล่าวว่า ไทยจำเป็นต้องกำหนดเรื่องระบบนิเวศนวัตกรรมเป็นนโยบายแห่งชาติ และทำงานร่วมมือกันแบบไม่มีเงื่อนไข มุ่งเรื่องงานวิจัยโดยมองตลาดเป็นหลัก โดยควรจะมีเวทีหรือแพลตฟอร์มให้ผู้วิจัยและผู้ใช้งานวิจัยได้มีการพบกัน

“กลุ่มมิตรผลได้เริ่มวิจัยและพัฒนาตั้งแต่ปี 2540 และเพิ่มขึ้นทุกปี โดยจัดสรร 1% ของรายได้ เริ่มวิจัยตั้งแต่พันธุ์อ้อยจนถึงการนำไบโอเทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และของเหลือในกระบวนการผลิต มีการขาย CO2 หรือคาร์บอนเครดิต และปัจจุบันศึกษาเรื่องพลังงานชีวภาพสำหรับอากาศยาน”

นายสุรชา อุดมศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนของการทำนวัตกรรม คือจากเดิมบริษัทจะทำนวัตกรรมเพื่อใช้เองหรือตอบโจทย์สินค้า

แต่ปัจจุบันสินค้าทุกอย่างในอนาคตต้องตอบโจทย์ใน 2 เรื่องคือ low waste และ low carbon ซึ่ง SCG บุกเบิกเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน และพยายามทำอย่างเต็มที่ มีการเปลี่ยนวัตถุดิบให้เป็น low carbon มากที่สุด จากฟอสซิลให้เป็นวัสดุชีวภาพ และ new frontiers SCG คือการเอาคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ ซึ่งในอนาคตสิ่งที่ผลิตออกไปอาจจะเป็นสิ่งที่ GREEN ที่สุด

นายอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าทีมขับเคลื่อนนวัตกรรม AIS NEXT บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า เมื่อบริษัทถูกดิสรัปต์เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ จำเป็นต้องมีพาร์ตเนอร์มาช่วย เพราะปัจจุบันทุกบริษัทต้องวิเคราะห์เทรนด์ธุรกิจ บางเทคโนโลยีอาจสร้างเองหรือซื้อมาหากต้องการความเร็ว แต่ท้ายที่สุดอย่าทำเองคนเดียวทั้งหมด ให้อาศัยพาร์ตเนอร์ชิปให้มากที่สุด