
เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC ได้ลงพื้นที่เช็กความคืบหน้า 2 โครงการลงทุน EEC ได้แก่ สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 โดยต้องยอมรับว่า ตั้งแต่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ความคืบหน้าในแต่ละโครงการอาจจะมีการชะลอตัว การดึงนักลงทุนเข้ามาทำได้ไม่สะดวกเท่าที่ควร แต่ภายหลังโควิดคลี่คลาย พร้อมเดินหน้าโครงการและดึงการลงทุนเต็มที่
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC เปิดเผยว่า ได้ติดตามความคืบหน้าการพัฒนาโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลัก 2 โครงการ ซึ่งเป็นการร่วมทุนรัฐและเอกชน (PPP) คือโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 290,000 ล้านบาท ในส่วนของการก่อสร้างรันเวย์ที่สอง รับผิดชอบโดยกองทัพเรือจะเริ่มก่อสร้างต้นปี 2567 และเปิดให้บริการได้ปี 2570
พ.ค. 66 เปิด TOR รันเวย์ 2
สำหรับความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก พื้นที่ 6,500 ไร่ มูลค่าการลงทุนกว่า 204,240 ล้านบาท ได้เริ่มก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค ได้แก่ งานระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น ซึ่งได้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ (solar farm) และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (cogeneration) เป็นพลังงานสะอาด มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 95 เมกะวัตต์
พร้อมด้วยระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะขนาด 50 เมกะวัตต์ เพื่อให้สนามบินอู่ตะเภาและงานระบบอื่น ๆ ที่สำคัญ ทั้ง งานน้ำประปาและบำบัดน้ำเสีย งานระบบเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ล่าสุดงานมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดอยู่ระหว่างเตรียมออกประกาศเชิญชวนผู้รับจ้างงานทางวิ่งที่ 2 (รันเวย์ 2) ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพเรือ คาดว่าในเดือนพฤษภาคม 2566 จะออกประกาศเชิญชวนผู้รับจ้าง ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนประกวดราคา และประกาศผลภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 จากนั้นจึงลงนามในสัญญาจ้างเดือนธันวาคม 2566 ต่อไป และเริ่มงานก่อสร้างปี 2567 เสร็จสิ้นตามเป้าหมายในปี 2570
ขณะเดียวกัน ในระหว่างนี้ภาครัฐยังอยู่ระหว่างส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้กับบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนลเอวิเอชั่น จํากัด (UTA) คาดว่าจะส่งมอบในช่วงไตรมาส 3 ปี 2566 ต่อไป
ส่วนการร่วมลงทุนพัฒนาอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 เมืองการบิน คลังสินค้า ลานจอดอากาศยาน ถนน และสาธารณูปโภคภายในโครงการ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสนามบิน ปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับปรุงแผนแม่บทให้เหมาะสมกับสถานการณ์ธุรกิจการบิน
นายจุฬากล่าวอีกว่า ตอนนี้งานด้านโครงสร้างพื้นฐานมีความคืบหน้าแล้ว ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งเป็นโครงการที่เกี่ยวโยงกันนั้น ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาสัญญากับเอกชน คาดว่าจะต้องมาคุยกันอีกครั้ง ก่อนจะเสนอให้กับรัฐบาลใหม่พิจารณา
ส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชน โดยเฉพาะการร่วมลงทุนพัฒนาอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 เมืองการบิน (airport city) คลังสินค้า (cargo) ลานจอดอากาศยาน ถนน และสาธารณูปโภคภายในโครงการ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสนามบิน ปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับปรุงแผนแม่บทให้เหมาะสมกับสถานการณ์ธุรกิจการบิน และการออกแบบรายละเอียดต่าง ๆ แต่ละโครงการ
ด้านความก้าวหน้าที่สำคัญ UTA ได้จัดทำรั้วมาตรฐานเขตการบินเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้างทันทีหลังได้รับแจ้งให้เริ่มการก่อสร้าง (notice to proceed : NTP) จาก สกพอ.
จ่อถามบินไทย MRO
สำหรับกรณีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังไม่พร้อมลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท พื้นที่ 500 ไร่ นายจุฬาระบุว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสาน หรือสอบถามไปยังการบินไทย โดยเห็นว่ายังมีเวลา เนื่องจากขอให้มีความชัดเจนและมีการลงทุนรันเวย์ก่อน เพราะหากรันเวย์ยังไม่มีความคืบหน้าหรือก่อสร้าง การลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) ก็จะเร็วไป
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังมีเวลาให้การบินไทยตัดสินใจ เพราะต้องรอรันเวย์ 2 เสร็จช่วงปี 2569-2570 จึงจะเดินหน้าเอ็มอาร์โอต่อได้
ทั้งนี้ หากการบินไทยไม่พร้อมที่จะลงทุน อีอีซีก็พร้อมที่จะเชิญชวนนักลงทุนรายอื่นทั้งไทยและต่างชาติ โดยรายละเอียดของข้อตกลง เงื่อนไขการลงทุน ร่วมทุนก่อตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน จะเป็นอย่างไรยังตอบไม่ได้ อาจจะกลับไปศึกษารายละเอียดข้อตกลงร่วมทุนก่อตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ระหว่างการบินไทยกับแอร์บัสเมื่อปี 2561 อีกครั้ง
ยูทีเอ เร่งดึงนักลงทุนเมินไฮสปีดช้า
นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) เปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา บริษัทเดินหน้าดึงผู้ร่วมทุนต่างชาติเข้าพื้นที่ เพราะต้องยอมรับว่าช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การเจรจาพูดคุยกับนักลงทุนผ่านระบบออนไลน์ทำให้ความคืบหน้าไม่มาก อย่างไรก็ดี บริษัทคาดว่าแผนลงทุนและแหล่งเงินพร้อมจะเริ่มก่อสร้างเฟสแรกได้ในปี 2567 และเสร็จภายในปี 2570
ส่วนกรณีรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ล่าช้ากว่าแผน ไม่มีผลต่อแผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการเมืองบินแต่อย่างใด โดยการเปิดให้บริการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกในปี 2570 คาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการ 12 ล้านคนต่อปี ลดลงจากเป้าหมายเดิม 15 ล้านคนต่อปี ส่วนเป้าหมายยังเป็น 60 ล้านคนเท่าเดิม โดยวงเงินลงทุนตลอดโครงการ 2.04 แสนล้านบาท
“UTA ก่อสร้าง 5 ส่วน ประกอบด้วย 1.อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 และอาคารเทียบเครื่องบินรอง 2.ศูนย์การขนส่งภาคพื้น (GTC) 3.ศูนย์ธุรกิจการค้า (commercial gateway) 4.เขตประกอบการค้าเสรี (cargo village/free trade zone) 5.ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ (cargo complex)”
ท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3
นายพรเทพ ภูริพัฒน์ รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 มูลค่าโครงการ 57,400 ล้านบาท ปัจจุบันการพัฒนาเร็วกว่าแผนแล้วกว่า 43.72% จากเป้าหมาย 43.71% คาดว่าจะเปิดดำเนินการท่าเรือก๊าซ (ส่วนที่ 1) ภายในปี 2570
ปัจจุบันคืบหน้า อาทิ ก่อสร้างเขื่อนกันทราย ลงหินแกนแล้วเสร็จ 100% และอยู่ระหว่างปรับขนาดเสริมหินเกราะชั้นนอก ติดตั้งเขื่อนกันคลื่นทะเล (breakwater) ถมทรายเพื่อก่อสร้างถนน สะพานเข้า-ออกโครงการ พร้อมติดตั้งม่านกันตะกอนตามที่ระบุในรายงาน อีเอชไอเอ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด สร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนต่อเนื่อง
ส่วนการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ วัดคุณภาพอากาศ เสียง ความสั่นสะเทือน วัดคุณภาพน้ำทะเล คุณภาพน้ำทิ้ง พร้อมรายงานต่อกรมเจ้าท่า และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ทุก 6 เดือน ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 3 ครั้ง เป็นต้น
โดยโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดระยะ 3 ถือเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อีอีซี เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในเขตนิคมฯ มาบตาพุด ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ รองรับการลงทุนใน อีอีซี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี 19 ล้านตันต่อปี รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจร และในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สร้างการลงทุนในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดการจ้างงาน และประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น