เงินเฟ้อไทย เมษายน 66 สูงขึ้น 2.67% แต่อยู่ต่ำสุดในรอบ 16 เดือน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

เงินเฟ้อไทย เดือนเมษายน 2566 สูงขึ้น 2.67% แต่สูงขึ้นในอัตราชะลอตัวต่อเนื่อง และต่ำสุดในรอบ 16 เดือน ผลมาจากราคาน้ำมัน-อาหาร ลดลง

วันที่ 3 พฤษภาคม 2566 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) ของไทย เดือนเมษายน 2566 พบว่า เท่ากับ 107.96 สูงขึ้น 2.67% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 16 เดือน  นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564

โดยสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อ ลดลงมาจาก ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าในหมวดอาหารที่ราคาชะลอตัว ประกอบกับฐานราคาในเดือนเมษายน 2565 อยู่ระดับสูง

ทั้งนี้  หากเทียบเงินเฟ้อกับเดือนก่อนหน้า สูงขึ้นเล็กน้อย 0.19% ตามราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่สูงขึ้น 0.34% อาทิ ผักสด (ผักชี ต้นหอม ผักคะน้า) ผลไม้สด (เงาะ มังคุด ส้มเขียวหวาน) และไข่ไก่ ขณะที่ เนื้อสุกร ปลาช่อน ผักบุ้ง มะเขือเทศ น้ำมันพืช และครีมเทียม ราคาปรับลดลงจากเดือนที่ผ่านมา

และสินค้าในหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.08% ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันในกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ค่าของใช้และค่าบริการส่วนบุคคลที่ปรับสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย อาทิ แป้งทาผิวกาย ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว ค่าแต่งผมชาย/สตรี

ขณะที่สินค้าหลายรายการราคาลดลง อาทิ น้ำมันกลุ่มดีเซล ค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า หม้อหุงข้าว และตู้เย็น รวมถึงสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด และของใช้ส่วนบุคคลบางประเภท (ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน แป้งผัดหน้า น้ำยาระงับกลิ่นกาย กระดาษชำระ)

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนมีนาคม 2566) พบว่า เงินเฟ้อไทยต่ำเป็นอันดับที่ 14 จาก 133 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายเขตเศรษฐกิจ อาทิ สหรัฐอเมริกา อิตาลี สหราชอาณาจักร เม็กซิโก อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และอยู่ระดับต่ำที่สุดในอาเซียน  จาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ทั้ง สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม

สำหรับ เงินเฟ้อเดือนเมษายน 2566 ที่สูงขึ้น  2.67% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 4.53% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ อาทิ

ผักและผลไม้ (ถั่วฝักยาว มะนาว กระเทียม แตงโม เงาะ มะม่วง) ตามสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย และต้นทุนที่สูงขึ้น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ตามปริมาณข้าวที่ลดลงจากการส่งออกที่มีมากขึ้น และสิ้นสุดการจัดโปรโมชัน ไข่ไก่ ราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต และปริมาณในตลาดที่มีไม่มากนัก

ขณะที่เครื่องประกอบอาหาร (ซีอิ๊ว น้ำพริกแกง ซอสหอยนางรม) ราคาสูงขึ้น เพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร ขึ้นฉ่าย ผักกาดขาว ผักบุ้ง  กล้วยน้ำว้า น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) และมะขามเปียก

หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 1.39% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ อาทิ ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารสาธารณะ (แท็กซี่ เรือ รถเมล์เล็ก/สองแถว เครื่องบิน) น้ำมันเชื้อเพลิงบางประเภท (น้ำมันกลุ่มดีเซล ก๊าซยานพาหนะ (LPG) แก๊สโซฮอล์ E85) ค่าการศึกษา ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลและสิ่งที่เกี่ยวกับ

ทำความสะอาด (สบู่ถูตัว ยาสีฟัน แป้งทาผิวกาย น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ซักผ้า) เนื่องจากสิ้นสุดโปรโมชัน ค่าบริการส่วนบุคคล (ค่าแต่งผมชาย/สตรี ค่าทำเล็บ)

ทั้งนี้ มีสินค้าสำคัญหลายรายการราคาลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มในภาพรวมอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มแก๊สโซฮอล์และเบนซิน เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เสื้อผ้าบุรุษ น้ำยาระงับกลิ่นกาย แป้งผัดหน้า ที่เขียนคิ้ว ค่าสมาชิกเคเบิลทีวี และเครื่องรับโทรศัพท์มือถือ

ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 1.66% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน  ชะลอตัวต่อเนื่องจาก เดือนมีนาคม 2566 ที่สูงขึ้น 1.75% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม ปี 2566 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงค่อนข้างมาก โดยสาเหตุสำคัญมาจากฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อค่อนข้างสูง และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่ราคาสินค้าและบริการบางรายการชะลอตัว และบางรายการเริ่มทรงตัวแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มชะลอตัว และคาดว่าจะอยู่ในกรอบเป้าหมายที่กำหนด แต่ยังมีปัจจัยที่อาจทำให้เงินเฟ้อขยายตัวมากกว่าที่คาดไว้ อาทิ ราคาก๊าซหุงต้มที่ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตสำคัญ ปัญหาภัยแล้ง

ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณและราคาสินค้าเกษตร อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 อยู่ที่ระหว่าง 1.7 – 2.7% (ค่ากลาง 2.2%) และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง

เงินเฟ้อ

เงินเฟ้อ