เงื่อนไขโหด “บงกช-เอราวัณ” รายใหม่คิดหนักต้องผลิตก๊าซต่อเนื่อง

โค้งสุดท้ายจ่อเปิดประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณ-บงกช กพช.รับทราบแนวทางการจัดการแหล่งก๊าซหมดอายุ เตรียมเปิดประมูลด้วยการใช้รูปแบบ “ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC)” วงในธุรกิจสำรวจผลิตปิโตรเลียมชี้เงื่อนไขโหดมีไม่กี่รายเท่านั้นที่ทำได้ 

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า กระทรวงพลังงานได้เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้รับทราบการเปิดประมูลแหล่งก๊าซบงกช-เอราวัณ 4 ประการ คือ 1) รับทราบการพิจารณาของคณะกรรมการปิโตรเลียมที่ประเมินปริมาณสำรองก๊าซที่มีอยู่ในหลุมผลิตและโอกาสพบปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ของทั้ง 2 แหล่งเข้าเกณฑ์การใช้รูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (production sharing contract หรือ PSC) ได้ 2) รับทราบเงื่อนไขให้ผู้รับสัมปทานรายเดิมชำระค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ต้องส่งมอบให้รัฐตามสัญญาและตามสัดส่วนของปิโตรเลียมที่ได้ผลิตไปแล้วและที่คงเหลือหลังการส่งมอบ

3) เงื่อนไขกำหนดพื้นที่สำหรับการประมูล แหล่งเอราวัณ สัญญาสัมปทานเลขที่ 1/2515/5 กับเลขที่ 2/2515/6 จะหมดอายุลงในวันที่ 23 เมษายน 2565 แล้วให้รวมเป็นแปลงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบริหารภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต 1 สัญญา (แปลง G1/61) และเสนอปริมาณผลิตก๊าซขั้นต่ำ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันต่อเนื่อง 10 ปี กับเงื่อนไขกำหนดพื้นที่สำหรับการประมูล แหล่งบงกช ตามสัญญาสัมปทานเลขที่ 5/2515/9 จะสิ้นสุดอายุสัมปทานในวันที่ 23 เมษายน 2565 กับสัมปทาน

เลขที่ 3/2515/7 จะสิ้นสุดอายุสัมปทานวันที่ 7 มีนาคม 2566 ให้รวมแปลงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่จะบริหารภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต 1 สัญญา (แปลง G2/61) และให้เสนอปริมาณผลิตก๊าซขั้นต่ำ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปีเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลเสนอราคาก๊าซธรรมชาติอ้างอิงราคาก๊าซที่ใช้อยู่ในปัจจุบันตามสูตรราคาที่กำหนดในเงื่อนไขการประมูล ที่สำคัญให้ผู้เข้าร่วมประมูลเสนอสัดส่วนการแบ่งกำไรให้รัฐต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 และ 4) รับทราบในหลักการของแผนการบริหารจัดการประมูล โดยจะประกาศเชิญชวนในเดือนเมษายน 2561 จะได้

ผู้ชนะการประมูลในเดือนธันวาคม 2561 และคาดว่าจะลงนามสัญญากับผู้ชนะประมูลได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โจทย์สำคัญของการประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณคือ 1) ปริมาณก๊าซที่ผลิตได้จะต้องเพียงพอส่งต่อให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติให้สามารถเดินเครื่องผลิตให้เต็มที่หรือคงปริมาณการผลิตขั้นต่ำไว้ที่ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และ 2) ราคาก๊าซจะต้องไม่สูงกว่าราคาที่ซื้อขายกันในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่จะต้องดำเนินการคือ การเจรจากับผู้ประกอบการรายเดิมและผู้ประกอบการรายใหม่ว่า ในช่วงรอยต่อจะเชื่อมโยงการผลิตก๊าซอย่างไรให้ต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเปิดประมูลในระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) รวม 4 ฉบับ ในขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการเตรียมนำเสนอต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติ ได้แก่ กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขอและการได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. …., กฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. …., นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ชนะประมูลเป็นรายใหม่

แม้จะได้ลงนามสัญญากับภาครัฐแต่ก็ยังไม่สามารถเข้าไปสำรวจหรือเตรียมการผลิตก๊าซล่วงหน้าได้ แต่ต้องรอให้ผู้รับสัมปทานรายเดิมถอนออกไปเสียก่อน

ด้านแหล่งข่าวจากผู้ประกอบการธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ไม่เชื่อว่ากระทรวงพลังงานจะเปิดประมูลได้ทันในเดือนเมษายนและอาจจะต้องเลื่อนไปเป็นเดือนพฤษภาคมแทน เนื่องจากเงื่อนไขรายละเอียดการประมูลทั้งหมดจะต้องนำเสนอต่อ กพช.อีกครั้ง และยังต้องนำเสนอ ครม.จนสุดท้ายจะเหลือผู้เข้า

ประมูลไม่กี่ราย โดยผู้สนใจที่จะเข้าร่วมประมูลนอกเหนือไปจาก ปตท.สผ. กับบริษัทเชฟรอนฯในฐานะผู้รับสัมปทานเดิมในปัจจุบันแล้ว ก็จะมีรายใหม่อย่างบริษัทไชน่า เนชั่นแนล ออฟชอร์ ออยล์ คอร์ปอเรชั่น หรือ ซีนุก (CNOOC), บริษัทมูบาดาลา ปิโตรเลียม (ไทยแลนด์) และบริษัทมิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น