“สยามแก๊ส” ขึ้นที่1 LPG ในจีน ให้บางจาก-คาลเท็กซ์เปลี่ยนปั๊มขายน้ำมัน

หยุดขยายปั๊มก๊าซ - บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SGP ตัดสินใจหยุดขยายสถานีบริการก๊าซLPG หลังจากที่ราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปใช้น้ำมันมากขึ้น

“สยามแก๊สฯ” ลั่น หยุดขยายปั๊มก๊าซ LPG ในไทย หลังยอดขายภาคขนส่งดิ่งหนัก เปิดทางผู้ค้าก๊าซเปลี่ยนเป็นปั๊มน้ำมัน หันมาเน้นทำตลาดก๊าซในต่างประเทศปักธงซัวเถา-จูไห่ทำการตลาดต่อเนื่อง ล่าสุดเล็งขยายตลาดจีนตอนเหนือ รุกธุรกิจก๊าซ LNG

นายศุภชัย วีรบวรพงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SGP เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่ราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปใช้น้ำมันมากขึ้น จากเดิมที่เคยใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เนื่องจากมีราคาถูกมากเมื่อเปรียบเทียบกับราคาน้ำมัน และเมื่อพิจารณาภาพรวมการใช้ก๊าซ LPG จะพบว่าความต้องการใช้ในภาคขนส่งลดลงอย่างมากถึง

ร้อยละ 10 มาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การใช้ก๊าซ LPG ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์ดังกล่าว

สยามแก๊สฯจึงตัดสินใจหยุดขยายสถานีบริการก๊าซ LPG และร่วมมือกับผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ 2 ราย คือ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด เจ้าของสถานีบริการน้ำมันแบรนด์คาลเท็กซ์ เข้ามาเปลี่ยนเป็นสถานีบริการน้ำมันทดแทน

สำหรับสถานีบริการก๊าซ LPG ภายใต้แบรนด์สยามแก๊สฯในปัจจุบันมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 446 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็นสถานีบริการที่จำหน่ายน้ำมันพร้อมกับจำหน่ายก๊าซ LPG ร่วมด้วย ที่เปิดแล้วรวม 2 แห่ง และคาดว่าภายในปีนี้จะเปิดเพิ่มอีกประมาณ3 แห่ง ทั้งนี้หากราคาน้ำมันดีดตัวกลับมายืนราคาสูงและความต้องการใช้ในภาคขนส่งเพิ่มขึ้น สยามแก๊สฯสามารถปรับสถานีบริการให้สามารถจำหน่ายก๊าซ LPG เพิ่มเติมได้

“ยอดขายก๊าซผ่านปั๊มลดลงอยู่แล้ว เพราะราคาน้ำมันต่ำมาก ตอนนี้ตลาดค้าก๊าซในไทยไม่ได้หวือหวาเหมือนช่วงก่อนหน้านี้ โดยเมื่อมองเทรนด์ราคาก๊าซในขณะนี้ในแถบเอเชียจะเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนที่โดยปกติราคาก๊าซ LPG จะต้องปรับลดลง แต่ในแถบยุโรปและสหรัฐยังคงอยู่ในช่วงฤดูหนาว ทำให้ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกไม่ได้ปรับลดลงมากนัก ราคาในเดือน ม.ค.-ก.พ.อยู่ที่ 525 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และคาดว่าราคาในเดือน มี.ค.นี้น่าจะอยู่ที่ราคา 425 เหรียญสหรัฐ/ตัน เท่ากับว่าปรับลดลงมาเพียง 70 เหรียญสหรัฐ/ตัน”

หยุดขยายปั๊มก๊าซ – บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SGP ตัดสินใจหยุดขยายสถานีบริการก๊าซLPG หลังจากที่ราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปใช้น้ำมันมากขึ้น


นายศุภชัยกล่าวว่า ปัจจุบันสยามแก๊สฯส่งก๊าซ LPG เข้าไปจำหน่ายในหลายประเทศ คือ ออสเตรเลีย, บังกลาเทศ, เมียนมา, มาเลเซีย, เวียดนาม, กัมพูชา, ฟิลิปปินส์, จีน, ฮ่องกง, มาเก๊า และ สปป.ลาว โดยเฉพาะจีน ขณะนี้สยามแก๊สฯ

ถือเป็นผู้ค้าที่มีปริมาณการซื้อขายเป็นอันดับ 1 ในประเทศจีนแล้ว โดยจุดแข็งอยู่ที่การมีคลังเก็บก๊าซ LPG ใต้ดินขนาดใหญ่รวม 2 แห่งในจีนตอนใต้ คือที่เมืองซัวเถา และเมืองจูไห่ ศักยภาพคลังสูงสุดที่ 300,000 ตัน และได้วางแผนขยายธุรกิจก๊าซในจีนอีก คือ 1) ขยายตลาดก๊าซ LPG ไปยังพื้นที่จีนตอนเหนือด้วยระบบขนส่งใหม่ และ 2) ขยายธุรกิจไปยังเชื้อเพลิงประเภทอื่นอย่างก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ให้กับโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นการเพิ่มสินค้าและขยายฐานลูกค้า คาดว่าอนาคตความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้น เพราะรัฐบาลจีนมีนโยบายลดการใช้ถ่านหิน และหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น จะทำให้สยามแก๊สฯขยายตลาดได้เพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้ สยามแก๊สฯได้วางเป้าหมายยอดขายสำหรับตลาดก๊าซ LPG ในปี 2561 ว่า จะขยายตัวที่ร้อยละ 6-7 หรือมีปริมาณการขายที่ 3.4 ล้านตัน เทียบปีที่ผ่านมียอดขายอยู่ที่ 3.2 ล้านตัน ขณะที่รายได้ปี 2560 อยู่ที่ 60,000 ล้านบาท โดยรายได้ในปีที่ผ่านมาได้รับแรงหนุนจากราคา LPG ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 580 เหรียญสหรัฐ/
ตัน และปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย สำหรับแผนการลงทุนในปี 2561 ได้ตั้งงบฯลงทุนไว้ที่ 2,000 ล้านบาท สำหรับขยายธุรกิจ ซึ่งบริษัทมองหาลู่ทางการลงทุนใหม่ ๆ ต่อเนื่อง เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับธุรกิจ ทั้งในส่วนของธุรกิจโรงไฟฟ้าหรือธุรกิจ LNG ขณะที่สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ในระดับต่ำเพียง 0.9 เท่า หากต้องการขอวงเงินสนับสนุนสินเชื่อจากสถาบันการเงินสามารถดำเนินการได้ทันที

อนึ่ง ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจก๊าซ LPG ในภาคขนส่งค่อนข้างมาก และการแข่งขันในตลาดนี้รุนแรงมากจนทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องทยอยปิดสถานีบริการ โดยเฉพาะรายเล็ก หลังจากนั้นรายใหญ่เช่น บริษัท ทาคูนิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศหยุดทำการตลาดก๊าซ LPG ผ่านสถานีบริการ ตามมาด้วยสยามแก๊สฯปัจจุบันบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุด ตามมาด้วยอันดับ 2 คือสยามแก๊สฯ