“ฮาลาลไทย” เฮ! UAE รับขึ้นทะเบียนระบบตรวจรับรองส่งออก

“ฮาลาลไทย” เฮ!! UAE รับขึ้นทะเบียน สกอท. เป็นหน่วยรับรองอาหารฮาลาลส่งออก คาดประตูการค้าสู่กลุ่มอ่าวอาหรับเปิดกว้าง หวังดันปริมาณ-มูลค่าส่งออกตลาดกลุ่มตะวันออกลางเติบโตดึงรายได้เข้าประเทศพุ่ง

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า จากการที่ มกอช. ได้ให้การสนับสนุน สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (สกอท.) ในการดำเนินการจัดองค์กรรับรองฮาลาลของ สกอท. ให้สอดคล้องกับมาตรฐานใหม่ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ตามมาตรฐาน UAE.S 2055-2 2014 เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยรับรองฮาลาลจากประเทศคู่ค้ากับหน่วยงาน Emirates Authority for Standards & Metrology (ESMA) ของ UAE ตามเงื่อนไขและกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าฮาลาลใหม่ของ UAE ขณะนี้ทาง ESMA ได้ประกาศรับรองและขึ้นทะเบียน สกอท. เป็นหน่วยรับรองฮาลาลที่ได้รับการยอมรับจาก UAE แล้ว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2561 ทำให้การส่งออกสินค้าฮาลาลของไทยไปยัง UAE ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันยังเป็นการเปิดประตูการค้าและขยายช่องทางการส่งออกสินค้าฮาลาลไทยสู่ตลาดกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) 6 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย คูเวต โอมาน การ์ตา บาร์เรน และ UAE พร้อมสร้างความเชื่อมั่นในการรับรองมาตรฐานสินค้าฮาลาลของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะประเทศมุสลิมในกลุ่มองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ซึ่งมีสมาชิก 57 ประเทศทั่วโลก คาดว่าจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมและการส่งออกสินค้าฮาลาลไทยในอนาคต และนำรายได้เข้าประเทศเพิ่มสูงขึ้น

เลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า หน่วยงาน ESMA ได้ให้การรับการรับรองแก่ สกอท. จำนวน 2 ขอบข่าย คือ ขอบข่ายของสินค้าจำพวกอาหารกระป๋อง อาหารที่สามารถเก็บได้นานในอุณหภูมิห้อง ขนมขบเคี้ยว น้ำมัน น้ำดื่ม เครื่องดื่ม แป้ง ผลิตภัณฑ์อบแห้ง เส้นพาสต้า น้ำตาล เกลือผลิตภัณฑ์จำพวกสารปรุงแต่งอาหาร และขอบข่ายอาหารเสริม

แนวโน้มการผลิตอาหารฮาลาลของไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยมีสถานประกอบการที่ขอใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาล ประมาณ 2,500-3,000 บริษัท ผลิตภัณฑ์ที่ขอใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาล ประมาณ 50,000 รายการ ที่ขอใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาล เพื่อรองรับความต้องการของตลาดฮาลาลโลกที่กำลังเติบโตขึ้น อาทิ ตลาดกลุ่มประเทศเออีซี (AEC) เช่น มาเลเซีย ตลาดกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และตลาดกลุ่มประเทศแอฟริกา เป็นต้น

“มกอช. สกอท. กรมปศุสัตว์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังมีแผนดำเนินการร่วมกันในการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของไทย อาทิ การปรับปรุงมาตรฐานอาหารฮาลาลใหม่ สนับสนุนการตรวจสอบและรับรองอาหารฮาลาล รวมทั้งร่วมแก้ไขปัญหาการส่งออกอาหารฮาลาล ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออกสินค้าฮาลาล เช่น การจัดโรดโชว์เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพการรับรองฮาลาลไทยในต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาล ระยะ 5 ปี (2559-2563) ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้” เลขาธิการ มกอช. กล่าว

ตลาดอาหารฮาลาลยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพ เนื่องจากมีประชากรมุสลิมกว่า 1,900 ล้านคนกระจายอยู่ใน 148 ประเทศทั่วโลก ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลไปยังประเทศมุสลิมในกลุ่ม OIC มูลค่ากว่า 5,112.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จัดเป็นอันดับที่ 13 ของโลก โดยตลาดส่งออกสินค้าฮาลาลขนาดใหญ่ 5 อันดับแรก ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไนจีเรีย เบนิน และ UAE ตามลำดับ