“SCG- ปตท.-กัลฟ์-นทลิน” ชิงท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3

5 กลุ่มไทยเทศ “SCG-ปตท.-กัลฟ์-นทลิน” จ่อร่วมขบวน PPP ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 พร้อมเปิด TOR มิ.ย. 2561 เซ็นสัญญาสิ้นปีนี้

นายวีระพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า โครงการท่าเรือมาบตาพุด (เฟส 3) จ.ระยอง ขนาดพื้นที่ 1,000 ไร่ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยในวันที่ 20 เม.ย. 2561 กนอ.ได้เชิญ 5 กลุ่มผู้สนใจโครงการดังกล่าวเข้าร่วมลงทุนกับภาครัฐและเอกชน (PPP) มารับฟังความคิดเห็น ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนนักลงทุนไทยที่สนใจสัดส่วนประมาณ 60% เป็นส่วนของนักลงทุนต่างประเทศ 40% อาทิ กลุ่ม ปตท., กลุ่ม SCG, กัลฟ์ รวมถึงมีกลุ่มนักลงทุนหน้าใหม่อย่างกลุ่ม นทลิน ผู้ดำเนินธุรกิจด้านการขนส่งทางผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมทางทะเล มาเข้าร่วมหารือ เพื่อกำหนดกรอบการจัดทำ PPP โดยโครงการนี้มีมูลค่าลงทุน 10,800 ล้านบาท

สำหรับบริษัทต่างชาติที่สนใจอย่างจีน คือ บริษัท ไชน่า แมชชินเนอรี่ กรุ๊ป บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง
จำกัด รวมไปถึงประเทศเบลเยียม สิงคโปร์ อังกฤษ เกาหลี ในกลุ่มนี้ให้ความสนใจทั้งการก่อสร้างผู้รับเหมาถมทะเล และก่อสร้างพื้นที่โดยรอบ

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวประกาศเชิญชวนนักลงทุนได้ในเดือน มิ.ย. 2561 ให้เอกชนเตรียมยื่นข้อเสนอ ก.ค. 2561 ประกาศผลผู้ได้รับการคัดเลือก ต.ค. 2561 ลงนามในสัญญา ก.พ. 2561 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ พ.ศ. 2567 ซึ่งอาจเป็นแนวทางการร่วมลงทุน อาจจะให้เอกชนลงทุนส่วนใหญ่ หรือทั้งหมด และรัฐเป็นผู้ร่วมดำเนินการ

โดยท่าเรือดังกล่าวจะเป็นท่าเทียบเรือเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลวและก๊าซธรรมชาติ ที่จะมีบทบาทสำคัญในการ
นำเข้าพลังงาน มีพื้นที่รวมทั้งโครงการ 1,000 ไร่ ประกอบด้วย บ่อกักเก็บตะกอน, คลังสินค้า และธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติ, ท่าเทียบเรือสินค้าเหลว และท่าเทียบเรือก๊าซ เมื่อแล้วเสร็จจะรองรับสินค้ากลุ่มน้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติเหลว และสินค้าเหลว

สำหรับแผนงานปี 2561 ของ กนอ.กำหนดไว้ 5 งานหลัก คือ 1.การพัฒนาพื้นที่สำหรับขาย/เช่า 108,413 ไร่ 2.จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ระบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะแบ่งเป็นเขตส่งเสริมพิเศษ 21 แห่ง ส่วนของนิคมอุตสาหกรรมใหม่ 5 แห่ง ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.ชลบุรี, นิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33 จ.ปราจีนบุรี, นิคมอุตสาหกรรม World Food Valley ของบริษัท สิงห์คอร์เปอเรชั่น จำกัด จ.อ่างทอง, นิคมอุตสาหกรรม ซี.พี. (จีน) จ.ระยอง และนิคมอุตสาหกรรมแพรกษา จ.สมุทรปราการ รวมถึงท่าเรือมาบตาพุด (เฟส 3)

Advertisment

3.ตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา, นิคมอุตสาหกรรมสะเดา อ.สะเดา จ.สงขลา, นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว จ.สระแก้ว และนิคมอุตสาหกรรมแม่สอด จ.ตาก 4.ตั้งศูนย์บริการผู้ประกอบการ หรือ SMEs Industrial Transformation Center หรือ SMEs-ITC 10 แห่ง,5.ตั้งศูนย์ One Stop Service (OSS) อนุมัติ/อนุญาตใน EEC

สำหรับเป้าหมายยอดขายและเช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมปี 2561 จะมีพื้นที่ 3,500 ไร่ มียอดเงินลงทุนรวมไม่ต่ำกว่า 90,000 ล้านบาท และจะมีผู้ประกอบการรายใหญ่เพิ่มขึ้น 100 ราย โดยในจำนวนนี้อยู่ในพื้นที่ EEC 90% ซึ่งสูงกว่าปี 2560 ที่มียอดขาย 3,000 ไร่ มีมูลค่าการลงทุน 83,000 ล้านบาท และมีผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่ม 83 ราย

Advertisment

ส่วนในไตรมาส 1 ของปีงบประมาณ 2561 (ต.ค.-ธ.ค.) มียอดขาย และเช่าพื้นที่นิคม 737 ไร่ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.59% มีเงินลงทุนรวม 19,744 ล้านบาท ลดลง 16.07% การจ้างงาน 2,368 คน ลดลง 50.65% และจำนวนผู้ใช้ที่ดิน 42 ราย เพิ่มขึ้น 180% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ลงทุนในนิคมสูงสุด เช่น การค้า และโลจิสติกส์ สร้างโรงงานเพื่อขาย หรือให้เช่า, กลุ่มผลิตชิ้นส่วนยานยนต์, อุตสาหกรรมเหล็กและโลหะ, อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก อุตสาหกรรมเครื่องจักร

แหล่งข่าวจาก กนอ.เปิดเผยว่า สำหรับกลุ่มนักลงทุนที่จะเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 20 เม.ย.นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักลงทุนเดิมที่ลงทุนในท่าเรือมาบตาพุด เช่น บริษัท ปตท. บริษัท SCG บริษัท กัลฟ์ บริษัท บีแอลซีพี
เพาเวอร์ จำกัด (BLCP) บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) เป็นต้น