ผู้นำเข้าเหล็กยื่นร้องกฤษฎีกา ค้านกม.ใหม่ให้อำนาจอายัดสินค้าเลี่ยงAD

ผู้นำเข้าเหล็กรวมพล ค้านร่างแก้ไข พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน หรือ กม.AD ฉบับใหม่ หวั่นกระบวนการสกัดสินค้านำเข้าเปลี่ยนแปลงรูปแบบหลบเลี่ยงทุ่มตลาด “Anti Circumvention” ปกป้องผู้ผลิตภายใน กระทบผู้นำเข้าต้นทุนสูงเสียเวลาตรวจสอบ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ยึด-อายัดได้ ด้านกรมการค้าต่างประเทศแจงรับฟังความเห็นเอกชนทุกฝ่ายรอบด้าน คาดผ่านกฤษฎีกาเมษายนนี้ พร้อมเข้า สนช.

นายเบญจพงษ์ โล่ห์ชิตกุล นายกสมาคมเหล็กลวด เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มผู้นำเข้าเหล็ก ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มเหล็กลวด-หลังคาเหล็ก-เหล็กแผ่น-เหล็กรูปพรรณ-เหล็กแท่ง ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือต่อ คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดที่ 14 เพื่อคัดค้านการผ่านร่าง พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ (ฉบับ ..) พ.ศ. …. โดยมีสาระของการคัดค้านอยู่ที่การปรับปรุงบทบัญญัติสำหรับใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti Circumvention : AC) และในวันที่ 14 มีนาคมนี้ จะมีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างสมาคมเหล็กแต่ละชนิด พร้อมด้วยสภา SMEs เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากมีการผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ และกำหนดแนวทางในการยื่นคัดค้าน พ.ร.บ.ต่อไป

ประเด็นหลักที่คัดค้านคือ กฎหมายให้อำนาจ “พนักงานเจ้าหน้าที่” ที่สงสัยว่าสินค้านำเข้าที่ถูกกล่าวหาว่ามีการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนนั้น สามารถยึด-อายัด-ดำเนินการตรวจสอบสินค้าดังกล่าวได้ ทำให้ผู้นำเข้าเหล็กกังวลว่า หากมีการยึด อายัด ตรวจสอบ อาจต้องใช้ระยะเวลานาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการนำเข้าโดยเฉพาะค่าขนส่งกับดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น ในท้ายที่สุดอาจจะต้องปรับราคาจำหน่ายเหล็กในประเทศ จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคปลายทาง สร้างความเสียหายกับโครงการขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องใช้เหล็กนำเข้า

“ถ้าหากรัฐใช้กฎหมาย AC จะยิ่งเป็นการปกป้องผู้ผลิตในประเทศ 2 ชั้น ที่ผ่านมารัฐได้ให้ความช่วยเหลือผู้ผลิตในประเทศ ด้วยการประกาศใช้มาตรการขึ้นภาษีเพื่อตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ไปแล้ว แต่ผู้ผลิตเหล็กภายในประเทศยังไม่พัฒนาตัวเอง คุณภาพเหล็กที่ผลิตไม่เป็นไปตามที่ผู้ใช้ต้องการ อีกทั้งมีปริมาณไม่เพียงพอ ทำให้ต้องนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศที่มีต้นทุนสูง ผู้นำเข้าหลายรายได้รับผลกระทบและปิดตัวลง ขณะที่ผู้ผลิตในประเทศที่รัฐบาลปกป้องมีเพียงไม่กี่ราย และส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตจากต่างชาติด้วย”

นอกจากนี้ ทางผู้นำเข้าเหล็กอาจจะเสนอให้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เข้ามาดูแลเพื่อให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย หากจะมีการปรับปรุงกฎหมาย AD ฝ่ายโรงงานผู้ผลิตเหล็กในประเทศก็จะต้องมีการพัฒนาคุณภาพและปริมาณเหล็กในประเทศควบคู่กันไปด้วย ไม่ใช่เพียงการกล่าว

อ้างเลื่อนลอยว่า “ผลิตได้” และในระยะยาวประเทศไทยจำเป็นต้องมีการพัฒนาโรงถลุงเหล็ก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ ไม่เช่นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องที่ใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบอาจจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีการพัฒนาโรงงานถลุงเหล็กจำนวนมาก

ด้าน นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กรมได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายเดิม มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping: AD) ซึ่งกฎหมายดังกล่าวได้มีการเพิ่มบทบัญญัติ มาตรการ AC เข้าไปเพื่อให้ครอบคลุมรายการสินค้าที่เกี่ยวข้องได้มากขึ้น ภายหลังจากที่ได้เปิดรับฟังเป็นที่เรียบร้อย ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นให้กฤษฎีกาพิจารณา คาดว่าในช่วงเดือนเมษายน 2561 น่าจะได้รับการพิจารณาเป็นที่เรียบร้อยก่อนที่จะเสนอให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป


อย่างไรก็ดี ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นกฎหมายดังกล่าวนั้น ได้มีผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องให้ความกังวลในเรื่องการถูกควบคุมสินค้าเพิ่มขึ้น ทางกรมได้ชี้แจงข้อกังวลดังกล่าวไปแล้ว “ไม่น่ามีความเป็นห่วงมาก” เนื่องจากกรมได้มีขบวนการ ระยะเวลาไต่สวน หรือพิจารณาหากสินค้าดังกล่าวเข้าข่าย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด นอกจากนี้ กรมต้องการตรวจสอบสินค้าที่อาจจะเข้าข่ายที่จะหลบเลี่ยงการนำเข้าและสร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ “ผมว่าผู้นำเข้าเหล็กไม่ต้องกังวล หากมีการดำเนินการอย่างถูกต้องอยู่แล้ว” นายอดุลย์กล่าว