ดร.คณิศ แสงสุพรรณ รีวิว 1 ปี EEC เชื่อมโลก ให้ไทยแล่น

หลังได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้นั่งตำแหน่ง “เลขาธิการ” คนแรกของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เมื่อ 1 มีนาคม 2560 เพื่อพัฒนาประเทศไทยไปสู่เป้าหมาย “ไทยแลนด์ 4.0”

ล่าสุด “ดร.คณิศ แสงสุพรรณ” ได้ให้เกียรติกอง บก.ประชาชาติธุรกิจ มาอัพเดตแผนงานโครงการครบรอบ 1 ปี EEC ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อผลักดันการลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ในพื้นที่ 3 จังหวัด “ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง” ท่ามกลางการจับจ้องของคู่แข่งทั่วโลก

การลงทุนขยายตัว 10%

ภารกิจแห่งชาติครั้งนี้ ผมมั่นใจว่าการลงทุน 10 อุตสาหกรรมในอีอีซี จะช่วย “แก้ปัญหา” และเป็น “แรงส่ง” ให้การลงทุนในประเทศไทยขยายตัวดีดขึ้นจากเดิม 3% ไปถึง 10% ไทยเป็นประเทศพิสดาร เพราะช่วง 10 ปีมานี้ อัตราขยายตัวลงทุนต่ำมาก ขาดดุลมาก เทียบกับจีนแล้ว ใช้เวลา 15 ปี เข้า WTO ใช้เวลา 15-16 ปี ขยับตัวเองจากสัดส่วนจีดีพีโลก 1% มาที่ 15% จีดีพีโลก คือขยับปีละ 1% หลังขยายลงทุนปีละ 20% ต่อเนื่อง ซึ่งปกติประเทศทั่วไปขยายตัว 5% ต้องลงทุน 10%

“มีคำถามจากนักลงทุนเสมอ ถ้าอุตสาหกรรมเมืองไทยต้องปรับตัว จะเหลืออะไร เป็นอุตสาหกรรมเดิม หรือต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ยานยนต์ EV ที่ผ่านมาบริษัทรถยนต์ในไทยไปลงทุน EV ที่ประเทศอื่นกันหมด ถ้าไม่ระวัง จะไม่เหลือ”

“ที่ดีมีอนาคตก็อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะหรือดิจิทัล การท่องเที่ยวกลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ แปรรูปอาหาร หุ่นยนต์ การแพทย์ครบวงจร การขนส่งและการบิน”

รัฐจะนำ 10 อุตสาหกรรมเหล่านี้มาลงที่อีอีซี 5 ปีข้างหน้า ใน 5 อุตสาหกรรมเดิมยังขยายตัว 70% เพราะไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์กับอิเล็กทรอนิกส์ อีก 5 อุตสาหกรรมใหม่จะขยาย 30% คือ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและซ่อมเครื่องบินจะอยู่ที่อู่ตะเภา เป็นฮับของภูมิภาค คาดการณ์ 20 ปีข้างหน้า ทั่วโลกจะซื้อเครื่องบินใหม่ 4 หมื่นลำ ใน 2 หมื่นลำอยู่ที่ทวีปเอเชีย

“โครงการอีอีซีจะขับเคลื่อนได้ดี ต้องมีการลงทุน มีเทคโนโลยี มีเยาวชนมารองรับ และต้องสร้างเมืองท่าใหม่ มารองรับต่อจากกรุงเทพฯ ทั้งกลุ่มอยู่อาศัยและคนทำงาน”

5 ปีทุ่ม 1.7 ล้านล้าน

ส่วนงบประมาณลงทุนในพื้นที่ (รวมรัฐและเอกชน) มีไม่น้อยกว่า 1.7 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปีแรก คือ พัฒนาสนามบินอู่ตะเภา 200,000 ล้านบาท พัฒนาเมืองใหม่ฉะเชิงเทรา พัทยา ระยอง 400,000 ล้านบาท พัฒนาท่าเรือมาบตาพุดระยะ 3 วงเงิน 11,100 ล้านบาท ลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 500,000 ล้านบาท พัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะ 3 วงเงิน 150,000 ล้านบาท มอเตอร์เวย์ 35,500 ล้านบาท ไฮสปีด 200,000 ล้านบาท รถไฟทางคู่ 64,300 ล้านบาท

“ปีนี้จะทยอยเปิดประมูลอินฟราสตรักเจอร์ 4 โครงการหลักให้ครบ ทั้งไฮสปีด ท่าเรือ สนามบิน และไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินให้เสร็จใน 3 ปี แล้วเร่งใช้ประโยชน์จากอู่ตะเภาเต็มที่ ลดความแออัดในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกับดอนเมือง”

เร่งไฮสปีด-อู่ตะเภา

สิ่งสำคัญสุดตอนนี้ คือ “สนามบินอู่ตะเภา” กับ “รถไฟความเร็วสูง” ต้องเสร็จพร้อม ๆ กัน ซึ่ง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. …. ได้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว อยู่ระหว่างรอประกาศบังคับใช้

เช่น กำหนดแผนงาน มาตรการพัฒนาพื้นที่ การให้สิทธิหรือสัมปทาน ประกาศจัดตั้งเขตส่งเสริมพิเศษในเขตใหญ่ 3 จังหวัด กับเขตเล็ก เช่น เขตสนามบิน ท่าเรือ ออกระเบียบข้อบังคับ อย่างผังเมืองอีอีซีคลุม 3 จังหวัด รวมทั้งหลักเกณฑ์การร่วมลงทุน จัดตั้งกองทุน และติดตามประเมินผล

พื้นที่อีอีซีมีนิคมอุตสาหกรรม 31 แห่ง รวม 113,000 ไร่ อยู่ฉะเชิงเทรา 4 แห่ง ชลบุรี 14 แห่ง ระยอง 13 แห่ง ออกแบบไว้เป็นเขตส่งเสริม 21 แห่ง มีพื้นที่ประกาศเขตส่งเสริมรวม 86,775 ไร่ รอการลงทุนใหม่อีก 28,666 ไร่ รวมเงินลงทุน 1.31 ล้านล้านบาท ซึ่งปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท

แห่ขอส่งเสริม 3 จังหวัด

ภาพรวมการขอส่งเสริม 3 จังหวัด ปีที่ผ่านมามี 388 โครงการ วงเงิน 296,889 ล้านบาท อยู่ที่ฉะเชิงเทรา 58 โครงการ เงินลงทุน 39,238 ล้านบาท ชลบุรี 188 โครงการ เงินลงทุน 67,876 ล้านบาท และระยอง 142 โครงการ เงินลงทุน 189,775 ล้านบาท ประกาศเขตส่งเสริมแล้ว 2 แห่ง 3,336 ไร่ พื้นที่ลงทุน 2,300 ไร่ เงินลงทุน 2.1 แสนล้านบาท

ขออนุมัติเขตส่งเสริมรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 18 แห่ง พื้นที่ 80,300 ไร่ พื้นที่ลงทุน 24,000 ไร่ ลงทุน 1 ล้านล้านบาท และขออนุมัติอีก 1 แห่งในเขตส่งเสริมเพื่อรองรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่สื่อด้วยภาษาจีนโดยเฉพาะ

“การลงทุนในอีอีซีตอนนี้อยู่ที่ 84% ส่วนใหญ่ลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็น new S-curve 54% วงเงิน 131,651 ล้านบาท”

ส่วนอุตสาหกรรมเดิม 30% วงเงิน 117,456 ล้านบาท อุตสาหกรรมอื่น ๆ 16% (47,782 ล้านบาท) เช่น วิจัยพัฒนา ไฟฟ้าจากขยะ IHQ และ ITC

ท่องเที่ยวเรื่องใหญ่

ด้านท่องเที่ยวได้ทำแผนพัฒนาและส่งเสริมแล้ว ปีนี้ลงทุน 800 ล้านบาท จะยกระดับเชื่อมโยงการท่องเที่ยวสู่พื้นที่โดยรอบ เช่น เชื่อมทางทะเล จากกรุงเทพฯ-เกาะกงและสีหนุวิลล์ จากสมุยไปหัวหินและปราณบุรี, การท่องเที่ยวเชิงนิเวศและชุมชน, การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สปา เชื่อมโยงปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด และศูนย์ประชุมที่พัทยา สวนนงนุช ฯลฯ สรุป ภาคการท่องเที่ยวจะเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับประเทศไทย

“การศึกษา” ก็สำคัญสำหรับอีอีซี ปัจจุบันภาพรวมตลาดแรงงานยังขาดช่างฝีมือ 50,000 คน ว่างงาน 300,000 คน ต้องจัดหลักสูตรให้ตรงกับดีมานด์ของตลาด

มี “สัตหีบโมเดล” เป็นโครงการต้นแบบ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ต้องบังคับให้สถานศึกษาถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้คนได้เรียนรู้จริง ๆ

“วิธีการบริษัทกับสถานศึกษา รับเด็ก ม.3 พร้อมกัน เทรนนิ่ง เรียนด้วยกัน เทรนปีแรกบริษัทจ่ายค่าเทอมเดือนละ 4,000 บาท บวกเงินเดือน 4,000 บาท ฝึกงานให้วันละ 300 บาท จบมารับทำงานทุกคน เงินเดือน 20,000 บาท เรากำลังเซ็น MOU กับโรงเรียนเทคโนโลยีในพื้นที่ 14 แห่ง หวังเพิ่มจาก 300 เป็น 6,000 คน ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ต้องการแรงงานฝีมือเฉพาะด้าน ซึ่งจะมีรายได้สูง เช่น ช่างฝีมือ นายช่าง วิศวกร นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ บัญชี กฎหมาย”

ปตท.-อาลีบาบาร่วมแจม

นอกจากนี้ ยังมีศูนย์นวัตกรรม (EECi) ที่ศรีราชา ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) การลงทุนอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใต้ทะเลอีก ในวงเงิน 3,000 ล้านบาท ส่วนนี้จะดึงอาลีบาบามาลงทุนด้วย ศูนย์ดิจิทัล (EECd) ที่วังจันทร์วัลเล่ย์ ระยอง ซึ่ง ปตท.ลงทุน 3,000 ล้านบาท จะเป็นแหล่งวิจัยพัฒนาระบบอัจฉริยะ พวกหุ่นยนต์และการเกษตรชีวภาพ

ภาพทั้งหมดคือความก้าวหน้าที่รัฐตั้งใจจริงจะขับเคลื่อนให้ทันโลก โดยมีภาคเอกชนช่วยกันสนับสนุน


เพราะ EEC เป็นการลงทุนครั้งใหญ่ของประเทศไทย ที่เป็นการ “เชื่อมโลก ให้ไทยแล่น”