ผู้ค้าม.7แห่ขยายโรงบรรจุ LPG รายเก่าร้องจ๊ากอัดโปรโมชั่นดึงลูกค้าสู้

โรงบรรจุก๊าซบูม - ตลาดก๊าซ LPG คึกคัก ความต้องการใช้ในภาคครัวเรือนขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้หลายรายเข้ามาลงทุนขยายโรงบรรจุก๊าซมากขึ้น หวังขยายตลาดหลังตลาดก๊าซ LPG ภาคขนส่งวูบหนัก

ธุรกิจโรงบรรจุก๊าซ LPG แข่งเดือด ผู้ค้า ม.7 เบนเข็มขยายโรงบรรจุเอง หลังตลาดก๊าซครัวเรือนดีมานด์ยังขยายตัว ตัวแทนผู้ค้า ม.7 บ่นมาร์จิ้นน้อยมากแค่ 20 สตางค์/กก. แต่ต้องแข่งขันหนักทั้งความรวดเร็วในการจัดส่งไปยังลูกค้า-มาตรฐานความปลอดภัยของถังก๊าซ ด้านกรมธุรกิจฯเรียกกลุ่มธุรกิจโรงบรรจุก๊าซหารือเตรียมเปิดเสรีโรงบรรจุ เปิดทางโรงบรรจุซื้อก๊าซจากผู้ค้า ม.7 ได้มากกว่า 1 ราย

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการในธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ LPG เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้การแข่งขันในธุรกิจโรงบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) สูงมาก เพราะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการทยอยขยายโรงบรรจุก๊าซอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีโรงบรรจุก๊าซทั่วประเทศรวมกว่า 600 แห่งทั่วประเทศ โดยโรงบรรจุก๊าซที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 2 ส่วน คือ 1) การขยายโรงบรรจุโดยผู้ค้ามาตรา 7 เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SGP เป็นต้น และ 2) การขยายโดยตัวแทนผู้ค้ามาตรา 7 เหตุผลที่มีการลงทุนขยายโรงบรรจุก๊าซมากขึ้นนั้น เนื่องจากความต้องการใช้ก๊าซ LPG ในภาคครัวเรือนขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้มีผู้ประกอบการสนใจเข้ามาในตลาดนี้มากขึ้น จากจำนวนโรงบรรจุก๊าซที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องจัดโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้า บางรายต้องยอมลดกำไรเพื่อนำมาเป็นส่วนลดให้ลูกค้า เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดเอาไว้

ในปัจจุบันโรงบรรจุก๊าซ LPG จะได้ในส่วนที่เรียกว่า “ค่าบรรจุ” ประมาณ 20 สตางค์/กิโลกรัม และในกรณีที่จำหน่ายก๊าซได้มากกว่าที่กำหนดจะมี “ส่วนเพิ่ม” ให้อีกประมาณ 20 สตางค์/กิโลกรัม ซึ่งเป็นค่าบรรจุที่ไม่เคยได้ปรับเปลี่ยนจากผู้ค้าก๊าซมาตรา 7 มานานแล้ว ทั้งที่ต้นทุนต่าง ๆ ก็ทยอยปรับขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงงานและราคาก๊าซ LPG ซึ่งในฐานะผู้ประกอบการเคยมีการนำเสนอให้ผู้ค้ามาตรา 7 พิจารณาในประเด็นนี้แล้ว แต่ยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งเร็ว ๆ นี้อาจจะมีการผลักดันในประเด็นนี้อีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะปัจจุบันการลงทุนก่อสร้างโรงบรรจุก๊าซ LPG ใช้พื้นที่ประมาณ 5 ไร่ จะต้องมีถังเก็บก๊าซมากกว่า 6 ลูก และต้องลงทุนซื้อหัวสำหรับบรรจุอีก รวมต้องใช้เงินลงทุนอย่างน้อย 30 ล้านบาท (ยังไม่รวมราคาที่ดิน) และกว่าจะคืนทุนต้องใช้เวลาถึง 7 ปี นอกจากค่าการตลาดที่ค่อนข้างต่ำแล้ว ผู้ประกอบการโรงบรรจุก๊าซยังมีความกังวลในประเด็นที่ผู้ค้ามาตรา 7 เริ่มขยายโรงบรรจุก๊าซ LPG เองในบางพื้นที่ ที่มีตัวแทนผู้ค้ามาตรา 7 อยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว เท่ากับว่าเปิดโรงบรรจุซ้ำซ้อน และสุดท้ายจะดึงยอดขายให้ลดลงด้วย ฉะนั้น ผู้ค้ามาตรา 7 จะต้องแก้ไขในประเด็นดังกล่าวด้วย

“ตอนนี้โรงบรรจุก๊าซแข่งกันที่ความรวดเร็วในการส่งก๊าซ LPG ให้ปลอดภัยจนถึงมือผู้ใช้ และถังก๊าซต้องได้มาตรฐานตามที่ภาครัฐกำหนดไว้ด้วย ตลาดโรงบรรจุก๊าซแข่งขันสูงพอ ๆ

กับธุรกิจน้ำมัน เพราะความต้องการใช้มีแต่จะเพิ่มขึ้น และในเร็ว ๆ นี้ กรมธุรกิจพลังงานยังเตรียมเปิดเสรีธุรกิจโรงบรรจุก๊าซ หลังจากที่เปิดเสรีนำเข้าก๊าซ LPG ไปแล้วก่อนหน้านี้”

ด้านนายสุรพล รักษาธรรมเจริญ นายกสมาคมผู้ค้าผู้ประกอบการธุรกิจโรงบรรจุก๊าซแอลพีจี กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมธุรกิจพลังงานได้เรียก

ผู้ประกอบการโรงบรรจุก๊าซ LPG เข้ามาหารือ เพื่อระดมความเห็นกรณีที่เตรียมเปิดเสรีธุรกิจโรงบรรจุก๊าซ LPG โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มการแข่งขันให้กับธุรกิจโรงบรรจุก๊าซ LPG ด้วยการเปิดให้โรงบรรจุก๊าซสามารถรับก๊าซ LPG จากผู้ค้ามาตรา 7 ได้มากกว่า 1 ราย พร้อมทั้งเปิดทางให้ผู้ประกอบการโรงบรรจุก๊าซรายใหม่เข้ามาในตลาดนี้มากขึ้น ที่สำคัญเพื่อให้คุณภาพถังก๊าซในระบบเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงกำหนดแนวทาง “ระบบซ่อมกลาง” เพื่อให้เข้ามาดูแลถังก๊าซว่าได้มาตรฐานหรือไม่ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการโรงบรรจุก๊าซได้นำเสนอว่า การเปิดเสรีดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการรับภาระเพิ่มขึ้น คือ ต้องสร้างถังเก็บก๊าซขนาดใหญ่ตั้งแต่ 4.3 ตัน/ถัง (หรือ 4,300 กิโลกรัม) ขึ้นไป ซึ่งโรงบรรจุก๊าซ LPG ในหลายพื้นที่มีข้อจำกัดด้านเนื้อที่ และบางรายอาจจะยังไม่มีศักยภาพทางการเงินที่จะลงทุนขยายถังเก็บเพิ่มเติม ในกรณีที่ภาครัฐต้องการเปิดเสรีธุรกิจโรงบรรจุก็จะต้องให้เวลาในการปรับตัวด้วย