มหากาพย์แก้ยางตกต่ำ รัฐดันมาตรการ “หยุดกรีด” ดันราคา

หลังปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาเป็น “ประยุทธ์ 5” เมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2560 รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับราคาสินค้าเกษตรเป็นพิเศษ โดยเฉพาะยางพารา ที่ พล.อ.ประยุทธ์ลั่นวาจาต้องแก้ปัญหาราคาตกต่ำให้เห็นเป็นรูปธรรมภายใน 3 เดือน

เมื่อนายกฤษฎา บุญราช เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้เสนอ 6 มาตรการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำต่อคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) และ ครม. ก่อนส่งท้ายปีเก่า 2560 ได้แก่ 1) มาตรการการให้สินเชื่อผู้ประกอบกิจการยางแห้งวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะซื้อยางได้ประมาณ 3.5 แสนตัน รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 3% ต่อปี 2) มาตรการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐเป้าหมาย 2 แสนตันต่อปี 3) มาตรการควบคุมผลผลิต โดยมีเป้าหมายลดผลผลิตจากเกษตรกรเร่งโค่นยางไปปลูกพืชอื่นในช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ จะได้รับเงินเร็วเพิ่มขึ้นอีกรายละ 4,000 บาท เป้าหมาย 2 แสนไร่ และให้หน่วยงานรัฐที่มีสวนยางหยุดกรีดยางประมาณ 1 แสนไร่

4) มาตรการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยาง วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ย สถาบันเกษตรกรจ่ายดอกเบี้ยจริงเพียง 0.01% ต่อปี 5) มาตรการชดเชยดอกเบี้ย 3% ต่อปี ให้สินเชื่อสถาบันเกษตรกรรวบรวมยางวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท และ 6) มาตรการชดเชยดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบกิจการผลิตภัณฑ์ยางวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ใช้ในการขยายกำลังการผลิต/ปรับเปลี่ยนเครื่องจักร

ยังไม่รวมความร่วมมือของ 3 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย จับมือกันลดการส่งออกยางในไตรมาสแรกปีนี้ รวม 3.5 แสนตัน โดยไทยลดส่งออก 2 แสนตันเศษ อินโดนีเซีย 9.5 หมื่นตัน และมาเลเซีย 2 หมื่นตัน ทั้งนี้มาตรการทั้ง 6 และการลดการส่งออกมีเป้าหมายในการผลักดันราคายางขึ้นสู่เป้าหมาย กก.ละ 60 บาท

อย่างไรก็ตาม ราคายางแผ่นดิบและยางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่ประมูลผ่านตลาดกลางในเดือน ม.ค.-ก.พ. 2561 ราคาส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง กก.ละ 43-47 บาทเท่านั้น ทำให้ผู้บริหารในรัฐบาลชุดนี้วิตกว่า หากมีการเปิดกรีดยางฤดูใหม่ในเดือน พ.ค.ศกนี้เป็นต้นไป ยางที่จะออกสู่ตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ จะส่งผลให้ราคาทรุดตัวลงมาได้ อาจได้เห็นยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคาตกต่ำหนักสุดท้ายเหลือเพียง กก.ละ 33 บาท เหมือนในช่วงเดือน ก.พ. 2559 กลับมาอีกก็ได้ ซึ่งจะไม่ส่งผลดีต่อรัฐบาลที่จะมีการจัดการเลือกตั้งภายในต้นปี 2562

ดังนั้น จึงเหลือไม่กี่ทางเลือกที่จะดันราคายางให้สูงกว่าต้นทุนการผลิต กก.ละ 64.90 บาท คือ ชาวสวนยางต้องขายยางให้ถึง กก.ละ 80 บาท พอเหลือกำไรให้จับจ่ายใช้สอยในครัวเรือน หนีไม่พ้นการให้ชาวสวนยางหยุดกรีดยาง เพื่อลดซัพพลายผลผลิตส่วนที่เกินความต้องการทั่วโลกประมาณปีละ 3-4 แสนตันออกไป และลำพังไทยหยุดกรีดเพียงประเทศเดียว การดันราคายางขึ้นสู่ กก.ละ 80 บาท อาจจะไม่ได้ผลหรือต้องใช้เวลานานรวมทั้งใช้งบประมาณมากเกินไป เพราะการให้ชาวสวนยางหยุดกรีดยาง ก็ต้องมีการจ่ายชดเชยรายได้

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯได้วางแผนหยุดกรีดไว้ 2 แนวทาง คือ หยุดกรีด 3 เดือน จำนวน 3 ล้านไร่ จะจ่ายชดเชยให้ชาวสวนรายละ 4,500 บาท ไม่เกินรายละ 10 ไร่ หรือแนวทางหนึ่งคือหยุดกรีดยางทั้งปี ซึ่งใน 1 เดือนจะกรีดยาง 15 วัน หยุดกรีด 15 วัน แต่ทั้ง 2 แนวทางยังไม่ยุติ ต้องนำไปพิจารณาโดยละเอียดอีกรอบ

ขณะที่การหารือระหว่างไทยกับทูตตัวแทนประเทศผู้ผลิต ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2561 มีอินโดนีเซียเท่านั้นที่ให้ความสนใจในมาตรการนี้เป็นพิเศษ เพราะมีพื้นที่ให้ผลผลิตยางเป็นอันดับสองรองจากไทยประมาณ 4 ล้านตัน และเกษตรกรชาวสวนยางมีอาชีพเสริมไว้รองรับราคายางตกต่ำ ขณะที่ไทยมีผลผลิตยางปีละ 4.5-4.6 ล้านตัน ส่วนเวียดนามและมาเลเซียมีผลผลิตยางใกล้เคียงกันประมาณปีละ 1 ล้านตันบวกลบ เมื่อหักการใช้ในประเทศเหลือส่งออกไม่มาก โดยเฉพาะมาเลเซียที่นำเข้าน้ำยางสดจากไทยปีละหลายแสนตันไปผลิตถุงมือยาง

หาก 4 ประเทศร่วมมือกันหยุดกรีดยางได้จริง จะลดซัพพลายยางที่ล้นตลาดได้มาก การดันราคายางขึ้นสู่เป้าหมาย กก.ละ 80 บาทย่อมทำได้ แต่ถ้าความร่วมมือทั้ง 4 ประเทศล้มเหลว ไทยทำเพียงประเทศเดียว เป้าหมายราคา กก.ละ 80 บาทอาจล้มเหลว มหากาพย์การแก้ปัญหาราคายางตกต่ำอาจยืดเยื้อต่อไปอีกนาน หลังจากที่ราคายางตกต่ำต่อเนื่องจาก กก.ละ 180 บาท มาตั้งแต่เดือน ก.พ. 2554 ซึ่งกินเวลายาวนานมากว่า 7 ปี

ส่องยางค้างสต๊อก 1 แสนตัน

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2560 ได้มีมติสั่งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำอย่างเร่งด่วนภายใน 3 เดือน โดยเฉพาะยางพาราที่ค้างอยู่ในสต๊อก 1 แสนตัน ให้นำไปใช้ในหน่วยงานรัฐให้มากขึ้น และจะไม่มีนโยบายนำยางที่ค้างสต๊อกมาขายแข่งในตลาดอย่างแน่นอน

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมสรุปการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ และปริมาณความต้องการใช้ยางปี 2561 แบ่งเป็นปริมาณการใช้น้ำยางข้นปี 2561 จำนวน 9,916.832 ตัน ปริมาณการใช้ยางแห้งปี 2561 จำนวน 1,132.39 ตัน รวมทุกงบประมาณทั้งสิ้น 11,589,115,494.57 บาท

ตัวเลขล่าสุดมีหน่วยงานราชการ 6 หน่วยงานนำไปใช้ ได้แก่ 1.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปริมาณความต้องการใช้ยาง 709.76 ตัน 2.กระทรวงกลาโหม ปริมาณความต้องการใช้ยาง 1,472.73 ตัน 3.กระทรวงคมนาคม ปริมาณความต้องการใช้ยาง 8,351 ตัน 4.กระทรวงศึกษาธิการ ปริมาณความต้องการใช้ยาง 334.88 ตัน 5.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปริมาณความต้องการใช้ยาง 28.3745 ตัน 6.กรุงเทพมหานคร ปริมาณความต้องการใช้ยาง 152.45 ตัน รวมปริมาณความต้องการใช้ยาง 11,049.1945 ตัน

ดังนั้น จะเห็นว่าการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศน้อยมากเพียง 10% ขณะที่ กยท.ตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี จะส่งเสริมการใช้ยางในประเทศให้ได้ไม่ต่ำกว่า 30%

อย่างไรก็ตาม เพื่อกระตุ้นการใช้ยางพาราภายในประเทศ รัฐบาลมีนโยบายให้ส่วนราชการต่าง ๆ หันมาใช้ยางในหน่วยงานมากขึ้น และรวดเร็วขึ้น

โดยเมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งงานให้สำนักงบประมาณเร่งรัดการใช้ยางในหน่วยราชการ โดยหากมีหน่วยงานใดต้องการจะใช้เงินเพิ่มในการซื้อยางให้เสนอมาได้ทันที ส่วนงบประมาณสำหรับภาคเอกชนที่จะนำไปแปรรูปยางนั้น ได้เสนอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 3% และขณะนี้กระทรวงเกษตรฯอยู่ระหว่างโรดโชว์รายภาคเพื่อกระตุ้นและประชาสัมพันธ์ไปยังสภาอุตสาหกรรมจังหวัด สภาหอการค้า ผู้ประกอบการภาคเอกชน ให้มาเข้าร่วมโครงการใช้ยางในประเทศมากขึ้นด้วย