เปิดอาคารตรวจสุขอนามัยพืชแบบเบ็ดเสร็จสุวรรณภูมิ ดันส่งออกพุ่ง 8 หมื่นชิปเมนต์/ปี

เปิดอาคารตรวจสุขอนามัยพืชแบบเบ็ดเสร็จสุวรรณภูมิ

ดีเดย์เปิดบริการอาคารตรวจสอบรับรองสินค้าพืชแบบเบ็ดเสร็จ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อำนวยความสะดวกตรวจสอบ ออกใบรับรองสุขอนามัยพืชเร็ว 15-30 นาที/ชิปเมนต์ มั่นใจช่วยกระตุ้นยอดส่งออก เพิ่มขึ้นปีละไม่น้อยกว่า 80,000 ชิปเมนต์

วันที่ 8 มิถุนายน 2566 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดอาคารตรวจสอบรับรองสินค้าพืชแบบเบ็ดเสร็จ (one stop service) กรมวิชาการเกษตร อาคารใหม่ ณ ด่านตรวจพืชท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อาคารคลังสินค้า 4 เขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ ว่า กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับกระทรวงคมนาคม ได้ร่วมกันพัฒนาระบบการตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออก เพื่อลดปัญหาส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไป

โดยดำเนินการปรับปรุงอาคารตรวจสอบรับรองสินค้าพืชแบบเบ็ดเสร็จ (one stop service) กรมวิชาการเกษตร เพื่อตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานสินค้าทางการเกษตรก่อนส่งออกไปยังประเทศปลายทาง เป็นการแก้ปัญหาทั้งระบบ และลดเวลาในการตรวจสอบตามกระบวนการส่งออก ซึ่งเดิมกระจายไปหลายจุดให้รวมอยู่ในที่เดียว ซึ่งเป็นการนำความต้องการของประเทศคู่ค้ามาเป็นมาตรฐานในการตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรของไทย

“อาคารตรวจสอบรับรองสินค้าพืชแบบเบ็ดเสร็จ (one stop service) กรมวิชาการเกษตรแห่งใหม่นี้ สะดวกต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการเปิดกล่องสินค้า และสุ่มตรวจตัวอย่างสินค้าเพื่อนำไปตรวจสอบหาศัตรูพืช ช่วยอำนวยความสะดวก และลดระยะเวลาการให้บริการแก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถรักษาคุณภาพของสินค้าไว้ให้ยาวนานที่สุด”

นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำให้ช่วยกันรักษาคุณภาพกล้วยไม้ของไทยเพื่อการส่งออกทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากกล้วยไม้เป็นที่ต้องการของตลาดโลกและมูลค่าสูง แต่เป็นสินค้าเกษตรที่เน่าเสียได้ง่าย ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกเกิดความเสียหายด้านรายได้ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ดังนั้นจึงต้องช่วยกันรักษาคุณภาพชื่อเสียงกล้วยไม้ไทย

ทั้งนี้ โครงการจัดตั้งสถานที่สำหรับเตรียมสินค้าเกษตรและสินค้าเน่าเสียง่ายผ่านช่องทางพิเศษ Perishable Premium Lane (PPL) และการจัดเตรียมพื้นที่ให้บริการตรวจสอบรับรองสินค้าพืชแบบเบ็ดเสร็จ (one stop service) ณ อาคารคลังสินค้า 4 เขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปัจจุบัน ทอท.ได้จัดตั้งสถานที่และพื้นที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว กรมวิชาการเกษตร

ทั้งนี้ ด่านตรวจพืชท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้เริ่มดำเนินการตรวจสอบรับรองสินค้าพืชแบบเบ็ดเสร็จ (one stop service) ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 โดยปรับเปลี่ยนการให้บริการจากเดิมที่แยกกระจายหลายจุดมารวมเป็นจุดบริการเดียวทั้งหมด โดยให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ทั้งการตรวจสอบสินค้าพืชและออกใบรับรองสุขอนามัยพืชภายในอาคารเดียวกัน ง่ายต่อการบริหารจัดการ ผู้ส่งออกได้รับความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น

สำหรับการตรวจสอบสินค้า 1 ชิปเมนต์จะใช้เวลาในการตรวจสอบสินค้าพืชเพื่อออกใบรับรองสุขอนามัยพืชตามกระบวนการส่งออก 15-30 นาที ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสินค้าและประเทศปลายทางว่ามีความเข้มงวดมาตรการตรวจแมลงศัตรูพืชมากน้อยเพียงใด คาดการณ์ว่าต่อไปจะมีผู้ประกอบการนำสินค้าเกษตร มาขอรับบริการตรวจและออกใบรับรองสุขอนามัยพืช เพิ่มขึ้นปีละไม่น้อยกว่า 80,000 ชิปเมนต์

ภายในพื้นที่บริการแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนบริการแบบพิเศษ (premium service) และส่วนบริการแบบปกติ (normal service) ในส่วนของกระบวนการบริการแบบพิเศษ ทอท.อยู่ระหว่างการเจรจาความร่วมมือการตรวจพืชระหว่างรัฐต่อรัฐกับประเทศเยอรมนี เบลเยียม และสาธารณรัฐประชาชนจีน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่ในระหว่างการหารือกับหน่วยงานด้านการเกษตรของประเทศปลายทาง เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นในระบบการตรวจรับรองสินค้าเกษตรของไทย และก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางรวบรวมผลผลิตและกระจายสินค้าเกษตรหรือสินค้าเน่าเสียง่ายสู่ตลาด

สำหรับภาพรวมการส่งออกในปี 2565 ด่านตรวจพืชท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ออกใบรับรองสุขอนามัยพืช 70,262 ฉบับ โดยมี กล้วยไม้ ข้าวโพดฝักอ่อน ขิง ใบพลู หน่อไม้ฝรั่ง พริกขี้หนู ทุเรียน มะม่วง มังคุด มะพร้าวอ่อน แก้วมังกร เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ กระทรวงคมนาคม ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการพัฒนาระบบการตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออก เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานสินค้าทางการเกษตรก่อนส่งออกไปยังประเทศปลายทาง เพื่อประโยชน์ในการเชื่อมต่อกระบวนการขนส่งสินค้าและการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าทางการเกษตรหรือสินค้าเน่าเสียง่ายให้เข้ากับหลักเกณฑ์ของประเทศปลายทางและความต้องการของผู้บริโภค

โดยได้มีการจัดตั้งสถานที่สำหรับเตรียมสินค้าเกษตรและสินค้าเน่าเสียง่ายผ่านช่องทางพิเศษ PPL เป็นโครงการให้บริการผู้ประกอบการส่งออกตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจสอบรับรองด้านสุขอนามัยพืชผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Phyto) จัดทำเอกสารจัดเตรียมสินค้าให้พร้อมสำหรับการโหลดขึ้นเครื่องบิน และส่งมอบสินค้าให้กับสายการบินไม่ต้องเสียเวลารอ เสริมสร้างความเข้มแข็งในการตรวจสอบรับรองสินค้าเบ็ดเสร็จ

เช่น กำหนดให้ระบุข้อความรับรองพิเศษจากห้องปฏิบัติการ (additional declaration) ลงในใบรับรองสุขอนามัยพืช และกำจัดศัตรูพืช เช่น อบไอน้ำ ฉายรังสี กำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็น (quarantine treatment) ตามเงื่อนไขที่ประเทศคู่ค้ากำหนด

ซึ่งจะผลักดันให้ประเทศคู่ค้าเห็นความสำคัญและมีความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานสินค้าพืชของประเทศไทย ตลอดจนได้รับความไว้วางใจ ในการจัดส่งพนักงานเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบสินค้าล่วงหน้า (preshipment inspection) ณ อาคารคลังสินค้า 4 เขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก่อนบรรทุกขึ้นอากาศยานเพื่อขนส่งไปยังประเทศปลายทาง