“ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” ภารกิจ 20 เดือน CEO ปตท.

หลังจากที่ขับเคี่ยวกันมานานระหว่าง นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม กับ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มปิโตรเลียมขั้นปลาย และรักษาการแทนรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย “ลูกหม้อ” ปตท.ทั้งคู่ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2561 คณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งมติบอร์ดให้ความ “เห็นชอบ” ตามที่คณะกรรมการสรรหาเสนอชื่อ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ให้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.คนใหม่ ต่อจาก นายเทวินทร์ วงศ์วานิช โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2561

กลายเป็น CEO ปตท.ที่มีวาระการดำรงตำแหน่งแสนสั้นเพียง 1 ปี 8 เดือน กับการบริหารองค์กรขนาดใหญ่ที่มียอดขายในปีที่ผ่านมาเกือบ 1,995,722 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 135,180 ล้านบาท

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ปัจจุบันอยู่ในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท. มีประสบการณ์การทำงานถือว่า “คร่ำหวอด” ทั้งในบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ เริ่มตั้งแต่งานทางด้านแผนและกลยุทธ์ รวมไปจนถึงงานด้านการตลาด ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจการกลั่นและปิโตรเคมี และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและดิจิทัล นอกจากนี้ยังรับผิดชอบในการมองหาธุรกิจที่จะเป็นโอกาสใหม่ของ ปตท. เช่น การลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาล อย่างในโครงการ “สมาร์ทซิตี้” หรือการพัฒนาเมืองใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ นายชาญศิลป์ระบุว่า ปตท.มีความพร้อมที่จะร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาโครงการดังกล่าว

ซึ่งขณะนี้รอความชัดเจนจากรัฐบาลว่า จะให้พัฒนาโครงการดังกล่าวอย่างไร

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาแผนการลงทุน 5 ปี (2561-2565) วงเงิน 341,962 ล้านบาท ซึ่งจะครอบคลุมการทำงานในตำแหน่ง CEO ของนายชาญศิลป์ ในช่วง 2 ปีแรกของแผนจะพบว่า บริษัท ปตท.จะมีการลงทุนในส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ 1) การลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) กับ 2) การขยายท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ในขณะที่ธุรกิจน้ำมันและการค้าระหว่างประเทศ กับธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น จะมีการลงทุนเป็นลำดับรอง ๆ ลงมา

แต่สิ่งที่ท้าทายสำหรับ CEO คนใหม่ก็คือ โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วกับการหาโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ ทั้งที่อยู่ในธุรกิจพลังงานและธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พลังงาน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่อาจส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง ซึ่งในเบื้องต้น ปตท.ได้วางอนาคตในธุรกิจพลังงาน เช่น การลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบกักเก็บพลังงาน (energy storage system) รวมไปถึงการเข้าซื้อกิจการในธุรกิจที่มีความเป็นไปได้ในอนาคต

นอกจากนี้ ปตท.ยังเตรียมนำ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (PTTOR) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเดินหน้าธุรกิจค้าปลีกเต็มที่ทั้งธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน และยังเตรียมที่จะพัฒนาการบริการโรงแรมราคาประหยัดในพื้นที่สถานีบริการน้ำมันของ ปตท.เพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการโอนถ่ายทรัพย์สินในธุรกิจน้ำมันมายังบริษัทใหม่ และคาดว่าในช่วงต้นปี”62 จะสามารถนำบริษัท PTTOR เข้าจดทะเบียนได้

ความท้าทายของว่าที่ CEO คนใหม่ ปตท. ไม่ได้มีเพียงการเดินหน้าหาธุรกิจใหม่เท่านั้น ยังมีความท้าทายจากนโยบายภาครัฐที่ต้องการ “เปิดเสรีธุรกิจพลังงาน” ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาพลังงานให้กับหน่วยงานของรัฐ-การเปิดเสรีนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลวและธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว-การขนส่งทางท่อ ส่งผลทำให้ความได้เปรียบของ ปตท.ในฐานะรัฐวิสาหกิจลดลง และยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการด้านพลังงานรายอื่น ๆ เข้ามาแข่งขันกับ ปตท.ได้อีกด้วย