จับตา…แก้ปมข้าวโพด

คอลัมน์แตกประเด็น

โดย มิติประชาชาติ

2 ปีหลังรัฐบาลมีมติให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วน เพื่อขอสิทธิ์นำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน เพื่อปกป้องเกษตรกรในประเทศ เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดมีเพียง 4-5 ล้านตัน/ปี ไม่พอต่อการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งต้องการถึง 8 ล้านตัน ทำให้โรงงานอาหารสัตว์นำเข้าข้าวสาลีราคาถูก ปลอดภาษีมาใช้ถึง 4.5 ล้านตัน ส่งผลให้ราคาข้าวโพดลดลงเหลือ 4-5 บาท/กก. จึงนำไปสู่การกำหนดสูตร 3 ต่อ 1 พร้อมกำหนดราคาแนะนำรับซื้อ กก.ละ 8 บาท

มาปีนี้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ได้ส่งสัญญาณไปถึงภาครัฐ ขอให้ปรับลดสูตร 3 ต่อ 1 ลงเหลือ 1 ต่อ 1 หรือ 2 ต่อ 1 ด้วยกังวลว่าปีนี้ผลผลิตข้าวโพดปี 2561/2562 เมื่อคำนวณทอนกลับมาตามสัดส่วน 3 ต่อ 1 แล้ว จะนำเข้าข้าวสาลีได้น้อย ไม่พอใช้ในโรงงานอาหารสัตว์ที่มีทิศทางเติบโตขึ้น

ผลจากปริมาณซัพพลายข้าวโพดที่ลดลง ทำให้ราคาในตลาดปรับสูงกว่า 10.50 บาท/กก. สูงมากจากราคาที่กำหนดให้ซื้อ 8 บาท/กก. ส่งผลให้เกิดส่วนต่างราคา กก.ละ 2.50 บาท สร้างกำไรให้พ่อค้าข้าวโพดที่ถือครองสต๊อกไว้ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ และเนื้อสัตว์ปลายทางเพิ่มขึ้น

ขณะที่ฝั่งเกษตรกร และพ่อค้าข้าวโพดแย้งว่า ระดับราคาที่สูงขึ้นเป็นกลไกการปั่นราคา เพื่อให้รัฐยกเลิกมาตรการ 3 ต่อ 1 ไม่มีผู้ได้ประโยชน์ เพราะเป็นช่วงปลายฤดูไม่มีสต๊อก และหากราคาข้าวโพดสูงเกินไป ผู้ผลิตอาหารสัตว์ก็หันไปใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดอื่นที่ผลิตได้ในประเทศ เช่น มันสำปะหลัง หรือบายโปรดักต์จากข้าวทดแทน

ข้อโต้แย้งในประเด็นนี้ยังฝุ่นตลบ กระทั่งเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2561 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ซึ่งมี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน

นัดแรก “สนธิรัตน์” ทุบโต๊ะเสนอให้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 2 ชุด คือ คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาวิเคราะห์การกำหนดสัดส่วนวัตถุดิบนำเข้าเพื่อทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ มีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน พร้อมด้วยกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมส่งเสริมการเกษตร กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ สภาเกษตรกรแห่งชาติ

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมการค้าพืชไร่ สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีหน้าที่ 1) ศึกษาวิเคราะห์ปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สัดส่วนและการใช้สินค้าทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในการผลิตอาหารสัตว์ ปริมาณอาหารสัตว์ที่ใช้ในประชากรสัตว์แต่ละชนิด และ 2) กำหนดสัดส่วนการใช้สินค้าทดแทน ต่อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เหมาะสม และให้รายงานผลให้ นบขพ.ทราบ ภายใน 30 วัน

ส่วนคณะอนุกรรมการอีกชุดมีอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นประธาน เพื่อศึกษาแนวทางขยายเวลาการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศกัมพูชาเพิ่มอีก 2 เดือน จากเดิมกำหนดช่วงเดือนกุมภาพันธ์-สิงหาคม เป็นเดือนกุมภาพันธ์-ตุลาคมของทุกปี ตามที่กัมพูชาเรียกร้อง โดยปกติไทยจะนำเข้าวัตถุดิบจากกัมพูชาเพียงปีละ 20,000-30,000 ตัน ซึ่งไม่มาก ไม่ส่งผลกระทบต่อราคาในประเทศ นอกจากนี้เห็นชอบให้ “ยกเว้น” การใช้มาตรการกำหนดสัดส่วน 3 ต่อ 1 ให้กับกลุ่มผู้ผลิตอาหารกุ้ง ซึ่งใช้ข้าวสาลีในการผลิตสัดส่วน 10% ของกำลังการผลิต

ส่วนประเด็นที่เกษตรกรและพ่อค้าข้าวโพดขอให้ทบทวนขึ้น “ภาษีนำเข้าข้าวสาลี” ตามกรอบความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) จาก 0% เป็น 27% ตามกรอบเดิม เพราะหลัก ๆ ไทยนำเข้าจากประเทศยูเครน และอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นสมาชิกในกรอบ WTO ไม่ค่อยได้นำเข้าจากแหล่งที่เป็นคู่ค้า FTA อย่างออสเตรเลีย ข้อดีจะทำให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตข้าวโพดได้มากขึ้น และภาครัฐจะมีรายได้จากการเก็บภาษีนำเข้า แต่ข้อเสียทำให้ต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ และส่งออกสินค้าปศุสัตว์สูงขึ้น

ทั้งหมดนี้กระทรวงพาณิชย์ต้องชั่งน้ำหนักให้รอบคอบว่า ผลทางตรง-ทางอ้อมที่เกิดขึ้นต่อกลุ่มต่าง ๆ เป็นอย่างไร เพื่อให้ได้สูตรที่สร้างความสมดุลกับทุกฝ่าย