“พิจิตรโซลาร์”ฟ้องกกพ.ถูกตัดสิทธิ์ประมูลโรงไฟฟ้า

บริษัทพิจิตรโซลาร์ เพาเวอร์ ยื่นฟ้องศาลปกครองพิษณุโลก กล่าวหา กกพ.เปิดประมูลผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน SPP hybrid firm ไม่เป็นธรรม เหตุบริษัทถูกตัดสิทธิ์ตั้งแต่รอบเทคนิค แต่กลับไม่ชี้แจงเหตุผล พร้อมเชื่อมั่นศักยภาพบริษัทแพ้รายอื่น ขอให้เปิดประมูลแข่งขันใหม่เฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ

หลังจากที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP hybrid firm หรือการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานที่สามารถเลือกใช้เชื้อเพลิงได้มากกว่า 1 ประเภท รวม 300 เมกะวัตต์ (MW) ภายใต้ค่าไฟฟ้า 3.66 บาท/หน่วย รูปแบบ feed in tariff โดยใช้วิธีประมูล (competitive bidding)

ปรากฏ กกพ.ได้ประกาศผลผู้ได้รับคัดเลือกไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2560 รวม 17 บริษัท อาทิ บริษัทไทยโก้ เทคโนโลยี, บริษัทศรีพระยา, บริษัทบางไทร ภูมิพัฒน์, บริษัทมิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เข้าร่วมการประมูลหลายราย จนนำมาสู่การยื่นฟ้องศาลเพื่อให้มีการทบทวนการประมูล SPP hybrid firm ใหม่

นายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนกุล ประธานกรรมการ บริษัทพิจิตรโซลาร์ เพาเวอร์ ซึ่งเป็น 1 ในบริษัทที่เข้าร่วมการประมูลครั้งนี้กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทได้ตัดสินใจยื่นฟ้อง สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต่อศาลปกครองพิษณุโลก ภายหลังจากที่บริษัทถูกตัดสิทธิ์ในการเสนอขายไฟฟ้า SPP hybrid firm ทั้ง ๆ ที่บริษัทมีความพร้อมในการดำเนินการตามขั้นตอนและเงื่อนไขของ กกพ.ที่กำหนดไว้ทั้งหมด

โดยเฉพาะความพร้อม 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านเชื้อเพลิง 2) ด้านที่ดิน3) ด้านเทคโนโลยี และ 4) ด้านแหล่งเงินทุน นอกจากนี้บริษัทยังมั่นใจว่า ราคาส่วนลดค่าไฟฟ้า (FITF) ที่ได้นำเสนอต่อ กกพ.สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นได้แน่นอน โดยเฉพาะ 4 รายที่ได้รับการคัดเลือกให้พัฒนาโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคเหนือ (ตารางประกอบ) อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้พิจิตรโซลาร์ฯ ได้ทำหนังสืออุทธรณ์ไปยัง กกพ.เพื่อให้ทบทวนผลการพิจารณาของ กกพ.ที่ประกาศผลผู้ชนะประมูลไปเมื่อ 27 พฤศจิกายน พร้อมกันนี้ยังได้ออกหนังสืออีก 1 ฉบับเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2560 เพื่อให้ “ยับยั้ง” การเปิดซองด้านราคา เนื่องจากพบว่า กกพ.ได้ “เลื่อน” กำหนดการจากประกาศและขยายเวลาหลายครั้ง แต่กลับให้เวลาในการอุทธรณ์ไม่ถึง 1 เดือน และ “บริษัทก็ยังไม่ได้รับการชี้แจงจาก กกพ.ในเรื่องนี้”

อย่างไรก็ตามก่อนหน้าที่จะมีการเปิดประมูล SPP hybrid firm บริษัทพิจิตรโซลาร์ฯ ได้ทำการตรวจสอบจุดเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าตามกรอบที่ กกพ.กำหนด นอกจากนี้ยังมีหนังสือรับรองการเงิน และหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินรวมถึงในการเสนอขายตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่ต้องยื่นให้กับ กกพ. นั้นหมายถึง ความพร้อมของบริษัทพิจิตรโซลาร์ฯ ก็ไม่แตกต่างจากผู้ที่ได้รับการพิจารณารายอื่น ๆ เช่นกัน ทั้งหมดนี้ทำให้บริษัทตัดสินใจยื่นฟ้อง กกพ.ต่อศาลปกครองเพื่อให้มีการตรวจสอบและเพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเป้าหมายการฟ้องก็เพื่อให้ กกพ.เปิดประมูลใหม่เฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ

“ผมมั่นใจว่า เราพร้อม แต่ กกพ.ก็ตัดสิทธิ์เราและไม่มีคำอธิบายว่าไม่ผ่านการพิจารณาในประเด็นใดผมมองว่า การดำเนินการในหลายประเด็นของ กกพ.ค่อนข้างเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการบางรายที่เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ ผมจึงต้องฟ้อง กกพ.เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งที่ระบุว่า เราไม่ผ่านการพิจารณาด้านเทคนิคและยกเลิกการประมูลผู้ผลิตไฟฟ้าแบบหมุนเวียนในพื้นที่ภาคเหนือ สำหรับขั้นตอนต่อไปอยู่ระหว่างการยื่นเอกสารคำฟ้องทั้งหมดต่อศาลปกครองเพื่อพิจารณารับคำฟ้องว่า ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากถูกต้องศาลจะรับคำฟ้องแล้วส่งสำนวนให้กับ กกพ.ไปยื่นคำให้การเพื่อต่อสู้คดีต่อไป” นายบรรจงกล่าว