เกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์หมดยุคสมัย…โรงสีกดราคาข้าว

สัมภาษณ์พิเศษ

ปีนี้ผลผลิตนาปรังอยู่ที่ 7-9 ล้านตันข้าวเปลือก ใกล้เคียงกับทุกปีที่ผ่านมา หากมองผิวเผินเหมือนจะไม่มีความผิดปกติ แต่กลับกันเกิดปรากฏการณ์ความผันผวนของราคาข้าวสารปรับราคา 3 รอบในวันเดียว เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2561 สร้างความปั่นป่วนกับตลาดข้าวในประเทศไม่น้อย “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “เกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์” นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ถึงปรากฏการณ์นี้

Q : สถานการณ์ความผันผวนราคา

ช่วง 3-4 ปีถือว่าค้ายาก การคาดการณ์ไม่ค่อยแม่นยำ โรงสีอยู่ในสถานการณ์ที่แข่งขันกันเอง ตอนนี้มีโรงสีจำนวนมาก กำลังการผลิตรวมของโรงสีทั้งประเทศ 120 ล้านตัน/ปี เกินกว่าผลผลิตข้าว 29-30 ล้านตัน/ปี ฉะนั้น คำว่าโรงสีกดราคา ผมคิดว่ามันน่าจะหมดสมัย เพราะการแข่งขันซื้อข้าวเปลือกสูง การขายข้าวต้องดูจังหวะ ระมัดระวังการขาดทุน โรงสีส่วนหนึ่งมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ดังนั้น การจะรักษาสต๊อกไว้ยาว ๆ เพื่อดึงราคามีขีดจำกัด ทำให้ผู้ซื้อเห็นช่องทางโอกาสจากเรื่องความสามารถในการถือสต๊อกของเราน้อย ทำให้เกิดจังหวะซื้อขาย

Q : ต้นตอปัญหาสภาพคล่อง

เป็นเรื่องสะสมมานาน ย้อนไป 2-3 ปีก่อนราคาข้าวหอมมะลิลงรุนแรงจากตันละ 15,000 บาท ลงเหลือ 12,000 บาท โรงสีที่มีสต๊อกขาดทุนหมด เมื่อสายป่านการบริหารผิดจังหวะ ทำให้เกิดภาวะต้นทุนแฝงสำหรับผู้ที่มีปัญหาต้องส่งเงินกู้ธนาคาร ซึ่งกรณีปัญหาสภาพคล่องโรงสีแยกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่แข็งแกร่งไม่ได้รับผลกระทบ 2) กลุ่มโรงสีที่กำลังไปได้ ถ้าแบงก์ยังสนับสนุนอยู่ และ 3) กลุ่มที่มีปัญหา ซึ่งจริง ๆ ทุกธุรกิจต่างมีปัญหา แต่แบงก์ตกใจไปเหมารวมโรงสีทั้งหมด เท่ากับเร่งอาการของโรค ให้ยาผิดคนไข้ก็แย่ ถ้าแยกคนที่ไปได้จะไม่จมน้ำไปทั้งหมด ที่ผ่านมาเราส่งสัญญาณไปถึงภาครัฐหลายครั้งให้รู้ว่ามีปัญหา มีผลกระทบต่อกำลังซื้อเหมือนคำที่ว่า “ยามดีก็เรียกใช้ ยามไข้ไม่รักษา” เราเพียงขอให้แบงก์อย่ามองโรงสีแบบเหมารวม ขอให้แยกแยะ ผมเชื่อว่าธุรกิจไม่ได้มีอะไรที่เป็นศูนย์ ไม่มีวันที่โรงสีจะไม่เหลือสักโรง และไม่มีวันที่ชาวนาจะไม่ทำนา แต่มันจะปรับสมดุลโดยธรรมชาติ

Q : ขณะนี้แบงก์ยังเข้มงวด

ส่วนใหญ่ยังเข้มงวด แต่เริ่มพิจารณาโรงสีเป็นราย ๆ เริ่มปรับโครงสร้าง เริ่มเดินได้ วันนี้ปัญหามาถึงจุดต่ำสุดแล้ว ภาพมันนิ่งชัดแล้ว จะให้ยาอะไรก็รู้ ถ้าให้ยาแล้วไปไม่ไหวก็เป็นเรื่องธรรมดาจริง ๆ

การปล่อยเม็ดเงินใหม่เป็นเรื่องยากในสถานการณ์ปัจจุบัน บางแบงก์ที่ปล่อยเยอะ ๆ 60-80% ของวอลุ่มโรงสี ควรต้องผ่อนคลายต้องแก้ปัญหาเฉพาะจุด

Q : โรงสีหาเงินจากไหน

ถ้าแบงก์ไม่ให้เงินก็ไปไม่ได้ ต้องลดสัดส่วนการบริหารลง ให้แมตช์กับเงินที่มีอยู่ ต้องยืนบนธุรกิจเราให้ได้ การซื้อขายต้องมีกำไร คนมีเงินเห็นข้าวราคานี้อยากซื้อเก็บเพื่อบริหารการขายในช่วงที่ว่างเว้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว อารมณ์แบบนี้หายไป วันนี้อยากจะซื้อเก็บไม่มีเงินซื้อ ทำให้ราคาข้าวไม่ขยับเท่าที่ควร เพราะทุกคนต้องซื้อและขายหมุนเงินกลับมา

เมื่อผู้ซื้อข้าวต่อจากโรงสีรู้อารมณ์เป็นแบบนี้ ก็ค่อย ๆ รอให้โรงสีซื้อจนอิ่มแล้วทนไม่ไหวต้องขายออกมา เป็นจังหวะที่เห็นราคาขึ้นลงวันละ 3 เวลา เพราะตอนแรกคิดว่าจะซื้อได้ถูก แต่ซื้อไม่ได้พอดีเรือเข้ามาจำเป็นต้องซื้อ เลยกระชากราคาขึ้นมาช่วงสั้น ๆ ถือว่าเจ็บตัวทีเดียว แล้วทุกอย่างก็นิ่งไปสู่ปกติ มันไม่สะท้อนกลับไปสู่ราคาข้าวเปลือก เพราะจังหวะสั้น ๆ แต่ถ้าโรงสีโรงไหนที่ไปตื่นเต้นตามกระชากราคาข้าวเปลือกขึ้นก็เจ็บตัว สถานการณ์นี้ต้องระวัง

Q : โรงสีเสียเปรียบผู้ส่งออก

เสียเปรียบมานานแล้ว เพราะไม่สามารถกำหนดอะไรได้เลย เราซื้อข้าวเปลือกเงินสด แต่ขายข้าวให้ผู้ส่งออกเครดิต 30-40 วัน ระบบการค้าข้าวของไทยยังอาศัยความเชื่อใจ สัญญาไม่มี บางโกดังผู้ส่งออกไม่คืนใบชั่ง โรงสีโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง ปัญหาวันนี้เราต้องทำธุรกิจให้เดินหน้าไปได้ บางโรงสีหันไปส่งออก

Q : ความได้เปรียบโรงสีที่ทำส่งออก

ระบบโรงสีขายข้าวให้ผู้ส่งออกโดยผ่านหยง มีค่าหยง 1-2% ค่าขนส่ง แต่ถ้าหันไปส่งออกยังเสียค่าใช้จ่ายเหมือนกัน แต่เป็นการเปิดโอกาสช่องทางการตลาดให้ตัวเองมากขึ้น ส่วนเรื่องเครดิต 1 เดือนเหมือนเดิม แต่บางรายไม่ชอบก็เลยเลือกขายให้ผู้ส่งออกดีกว่า

Q : รัฐควรวางนโยบายข้าวอย่างไร

เห็นด้วยกับ 1) นโยบายนาแปลงใหญ่ให้ชาวนาปลูกข้าวประณีต ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต แต่อยากเห็นต้นทุนการปลูกแต่ละภูมิภาคเป็นเท่าไร หากชาวนาทำข้าวคุณภาพดี โรงสีไม่เคยปฏิเสธซื้อในราคาที่แพงขึ้น แต่ต้องตั้งดัชนีชี้วัดให้ได้จากอะไร 2) พยากรณ์การเพาะปลูกแม่นยำเพื่อให้ข้อมูลชาวนาวางแผนการผลิต ชาวนาจะดูเทรนด์ปีนี้แล้วปลูกปีหน้า ถ้ามองผิดก็ผิดเลย

น่าสังเกตว่าหลายปีที่ผ่านมายึดข้อมูลผลิตข้าวปีละ 29-30 ล้านตันและบวกกับสต๊อก 14 ล้านตัน ทำไมตลาดไม่เละ ต้องดูพื้นที่ปลูกให้นิ่ง พื้นที่เมืองขยายตัวกี่เปอร์เซ็นต์ เกษตรกรเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นกี่เปอร์เซ็นต์ ยังใช้ตัวเลขเดิมได้หรือไม่

อนาคตธุรกิจอีก 10 ปี

โรงสีขยายกำลังการผลิตมากกว่าปริมาณผลผลิตข้าว นับตั้งแต่ปี 2540 ที่รัฐลอยตัวค่าบาท ธุรกิจอื่นได้รับผลกระทบหมด ยกเว้นธุรกิจเกษตร ทำให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ให้โรงสีมากขึ้น พอผ่านมาถึงปี 2551 ราคาข้าวดีขึ้นจากโครงการรับจำนำ โรงสีบางแห่งขยายไปสร้างโกดัง ธุรกิจเติบโต สุดท้ายกำลังซื้อไม่มีก็ฟุบ ก็เหมือนกับอาชีพทั่วไปที่มีคนล้มคนเลิกเป็นเรื่องปกติ

จะเห็นว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเริ่มมีโรงสีล้ม มีประกาศขายผ่านเฟซบุ๊ก สาเหตุไม่ใช่ปัญหาสภาพคล่องอย่างเดียว บางแห่งไม่มีผู้สืบทอดกิจการ และยังไม่เห็นโรงสีขนาดใหญ่ล้ม ทุกธุรกิจมีความเป็นไปตามวัฏจักร สถานการณ์ตอนนี้ไม่เหมือนในอดีตที่โตผิดธรรมชาติ แต่ทุกคนโตขึ้นด้วยความเป็นจริง

วันนี้โรงสีมีศักยภาพครบหมด มีเครื่องจักรทันสมัย ส่วนหนึ่งไปทำแบรนด์ตลาดข้าวถุงในประเทศ ช่วง 4-5 ปีจะเห็นแบรนด์ข้าวถุงเกิดเต็มไปหมด อีกกลุ่มพยายามส่งออก ประเมินว่าตัวเลขส่งออกข้าวโดยโรงสี 3,000,000 ตัน หรือ 30% ของทั้งประเทศ บางส่วนหันไปทำอาชีพอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย วันนี้ถือว่าเราอยู่ในจุดต่ำสุดแล้ว ทั้งด้านการเงิน ลงทุน ราคา แต่ต้องประคองตัวไปให้ได้ ไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่านี้แล้ว

อย่างไรก็ตาม มองว่าระบบการค้าข้าวจะดีขึ้น เพราะปัจจุบันผู้เล่นในตลาดส่งออกมีน้อยราย ทำให้อำนาจต่อรองโรงสีน้อยแทบจะไม่มีทางเลือกขาย แต่เมื่อมีโรงสีไปทำส่งออกจึงมีตัวเลือก/ช่องทางระบายสินค้ามากขึ้น ใครที่นิสัยไม่ดี ไปตัดราคา ไปโกง จะหมดไป เพราะทุกอย่างต้องแข่งขันกันหมด ทั้งความเชื่อถือและคุณภาพ

อนาคต 10 ปีข้างหน้า คิดว่าโรงสีน่าจะมีสัดส่วนส่งออกเพิ่มขึ้นไปถึง 50% ของการส่งออกข้าวทั้งหมด วันนี้โครงสร้างธุรกิจกำลังเปลี่ยนจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง คนรุ่นใหม่มีหลักการทำธุรกิจเปลี่ยนไปจากคนรุ่นอดีต มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพียงแต่ธุรกิจนี้ยังจำเป็นต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวในการคาดการณ์และวิเคราะห์เรื่องการผลิต ส่งออก การกำหนดราคา