“กฤษฎา” รับพิจารณาข้อเสนอประมงพาณิชย์ แก้ไขกฎหมายที่กระทบชาวประมง

“กฤษฎา”รับพิจารณาข้อเสนอประมงพาณิชย์ แก้ไขกฎหมายที่กระทบชาวประมง จ่อตั้งคกก.ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างประมงพาณิชย์กับประมงพื้นบ้าน

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังหารือร่วมกับตัวแทนของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย นำโดย นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานคณะกรรมการบริหารสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ถึงประเด็นการทำบันทึกข้อตกลงระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับเครือข่ายสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2561 ซึ่งประกอบด้วย การขอให้กระทรวงเกษตรฯ เสนอเรื่องให้ ครม. ให้ความเห็นชอบการแก้ไข พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 อาทิ ยกเลิก ม.34 หรือ นิยาม “ประมงพื้นบ้าน” รวมทั้งขอให้ออกประกาศกระทรวงเกษตรฯ ควบคุมแก้ปัญหาการประมงจับปลากระตัก ด้วยเครื่องมือครอบ ช้อน ยก เรือปั่นไฟ และการประมงอวนลาก ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงอาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำและชาวประมงพื้นบ้าน

อีกทั้ง ขอให้แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. 24/2558 เพื่อเปิดให้รับจดทะเบียนเป็นเรือประมงพื้นบ้านและเรือท่องเที่ยว ตลอดจนขอให้บังคับใช้กฎหมายให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกพื้นที่ ทั้งนี้ ทางสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยได้เรียกร้องให้ยกเลิก 3 ใน 5 ข้อ ที่ทางสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยได้เสนอเพราะจะกระทบกับชาวประมงทั้งประเทศ

นอกจากนี้ ทางสมาคมฯ ยังได้เสนอเพิ่มเติม ประกอบด้วย 1. ให้แก้ไข/ยกเลิกกฎหมาย พ.ร.ก.ประมง พ.ศ. 2558 ในหลายมาตรตรา อาทิ ม.39 ม.57 ม.114 ม.166 เป็นต้น โดยขอให้นำเสนอ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบที่จะแก้ไขภายใน 1 เดือน เนื่องจากแต่ละมาตรตรากระทบกับผู้ที่มีอาชีพประมง ทำให้ไม่สามารถทำอาชีพได้อย่างอิสระ และขัดกับข้อกฎหมาย บางเรื่องคำสั่ง คสช. ให้ยกเลิก เพราะไปละเมิดสิทธิผู้ทำอาชีพประมง และเรื่องใดที่เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กับอธิบดีกรมประมงก็ขอให้เร่งรัดดำเนินการ

“เนื่องจากเรื่องที่เสนอมาดังกล่าวนั้น เป็นการแก้ไขกฎหมาย และคำสั่ง คสช. จึงจะต้องผ่านกระบวนการนิติบัญญัติต่าง ๆ ดังนั้น จึงได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย 1. ตัวแทนรัฐ 2. ตัวแทนชาวประมง และ 3. นักวิชาการทั้งไทยและต่างประทศ มาร่วมกันพิจารณา พร้อมกันนี้ผมได้ให้แนวทางไว้ว่า เพื่อความรวดเร็ว อะไรที่เห็นชอบร่วมกันแล้วไม่มีปัญหา ก็ให้รีบเสนอไปก่อน ส่วนเรื่องการแก้ข้อกฎหมายจำนวนหลายมาตรานั้น ทั้ง 3 ฝ่ายต้องหาข้อเท็จจริงมานำเสนอว่าแต่ละมาตรตราเป็นอย่างไร และรุนแรงเกินหรือไม่” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

Advertisment

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้นำตัวแทนจากสมาคมการประมงจังหวัด สหกรณ์ประมง และกลุ่มเกษตรกรทำการประมงทั่วประเทศ จำนวน 19 จังหวัด จำนวน 1,658 คน อาทิ สมุทรสาคร สมุทรปราการ ระยอง ชลบุรี เป็นต้น เดินทางมาร่วมเคลื่อนไหวชุมนุมที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อคัดค้านกรณีทำบันทึกข้อตกลง(MOU)ระหว่างนายกฤษฎา บุญราช รมว.กระทรวงเกษตรฯ กับสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ซึ่งทำขึ้นเมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยเห็นว่าบันทึกข้อตกลงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพประมง และสร้างความขัดแย้งในกลุ่มผู้ประกอบการประมงทั่วประเทศ

สำหรับประเด็นปัญหาในบันทึกข้อตกลงที่เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ได้ทำร่วมกับรมว.เกษตรฯ นั้น คือเรื่องที่กระทรวงเกษตรฯ จะเสนอขอแก้ไขพระราชกำหนด(พรก.)การประมง พ.ศ.2558 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชาวประมงพื้นบ้านเข้าสู่คณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาภายใน 6 เดือน โดยมีเนื้อหาสำคัญ ดังนี้ 1.แก้ไขนิยามประมงพื้นบ้าน ในมาตรา 5 ใหม่ 2.ยกเลิกมาตรา 37 เกี่ยวกับการห้ามผู้ได้รับอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง 3.แก้ไขคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด เกี่ยวกับสัดส่วนกรรมการ กระบวนการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อย่างชัดเจน โปร่งใส เป็นมาตรฐานเดียวกัน และ4.ให้ใช้มติของคณะทำงานในคณะอนุกรรมการแก้ไขกฎหมาย ที่ส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนของชาวประมงและผู้ประกอบการด้านการประมง ที่แต่งตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ

Advertisment

“การแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มประมงพื้นบ้านนั้น เช่น ยกเลิกมาตรา 34 ซึ่งเกี่ยวกับการห้ามผู้ได้รับได้รับอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่งจะทำให้ประมงพื้นบ้านมีศักยภาพมากขึ้นและสามารถทำการประมงได้ไกลกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้พื้นที่การทำประมงทับซ้อนกับเรือประมงพาณิชย์ รวมถึงเกิดความขัดแย้งในกลุ่มผู้ประกอบการประมงทั่วประเทศได้”