ส.ผู้เลี้ยงหมูจับมือเอกชนยกราคาหน้าฟาร์ม 12 บาท

ตัดวงจรหมู - ความคืบหน้าหลังคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์(พิกบอร์ด) มีมติให้ผู้เลี้ยงตัดวงจรหมูทีชีวิตออกจากระบบ 1 แสนตัว ในขณะนี้ได้มีการนำหมูเล็กขนาด 5 กก./ตัวไปทำหมูหันแล้วประมาณ 10,000 ตัว

ผู้เลี้ยงหมูขนาดกลางจับมือ 9 บริษัทใหญ่ผลิตหมูครบวงจร ดันราคาหมูเป็นหน้าฟาร์ม กก.ละ 4 บาท 3 รอบ รับฤดูร้อน ช่วยผู้เลี้ยง เผยแผนตัดวงจรหมู 1 แสนตัวทำหมูหันคืบแค่หมื่นตัว

นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ประชุมหารือกับผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่ 9 ราย มีมติให้ดึงราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มขึ้น กก.ละ 4 บาท เริ่มตั้งแต่วันพระที่ 16 มี.ค. 2561 และขยับอีก กก.ละ 4 บาททุกวันพระ ในวันที่ 24 และ 31 มี.ค. 2561 รวมขยับราคาหมูตามข้อตกลง 3 ครั้งเป็น กก.ละ 54 บาท เพื่อให้ใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิตมากที่สุด

ล่าสุดราคาหมูเป็นมีชีวิตหน้าฟาร์ม จ.ราชบุรี จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 61 ตก กก.ละ 46-47 บาทแล้ว ในบางจุดพ่อค้าจับหมูเริ่มไล่ซื้อที่ กก.ละ 48-50 บาทแล้ว เพราะกลัวราคาจะขยับขึ้นเรื่อย ๆ ตามข้อตกลงของผู้เลี้ยง ส่วนในภาคตะวันออกที่ จ.ฉะเชิงเทรา ราคาซื้อขายจริงอยู่ที่ระดับ กก.ละ 49-50 บาท

สถานการณ์ในช่วงนี้เริ่มเข้าฤดูร้อน เหมาะกับการตกลงกันขยับราคาหมูเป็นขึ้น เพราะฤดูร้อนจะทำให้หมูโตช้า 3-5% แต่ปัจจัยที่ทำให้ขยับราคาหมูเป็นขึ้นได้ เพราะปริมาณหมูเริ่มไม่ล้นแล้ว ซัพพลายเริ่มใกล้เคียงกับความต้องการซื้อ หลังจากราคาเริ่มอ่อนตัวมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา และลดลงมากในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2561 เหลือเพียง กก.ละ 38 บาท ณ หน้าฟาร์ม ลดลงมาเกือบ 50% จากที่ขึ้นไปที่ กก.ละ 70 บาทในปี 2560

ส่วนความคืบหน้าหลังคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์(พิกบอร์ด) มีมติให้ผู้เลี้ยงตัดวงจรหมูมีชีวิตออกจากระบบ 1 แสนตัว ได้มีการนำหมูเล็กขนาด 5 กก./ตัวไปทำหมูหันใกล้ครบ 1 แสนตัวแล้ว โดยตัดลูกหมูที่คลอดในระยะ 2 สัปดาห์แรกจำนวนหนึ่งออกมา มีการร่วมมือกันขายหมูเป็นขนาดกลางน้ำหนัก 95-105 กก. และหมูไซซ์ใหญ่ 120-140 กก. ในราคา กก.ละ 30-40 บาท มีการปลดแม่พันธุ์หมูลง 7-10% จากที่คาดว่าจะมีในระบบ 1.3 ล้านตัว ในราคา กก.ละ 15-17-18 บาท ช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.ที่ผ่านมา แต่ขณะนี้ขายในราคา กก.ละ 22-25 บาท

“การปลดแม่พันธุ์หมูจะเห็นผลต้องนับไปข้างหน้าอีก 9 เดือน ส่วนใหญ่จะเป็นการปลดแม่พันธุ์ท้องที่ 5 จากช่วงปกติจะปลดกันท้องที่ 8 ภาพโดยรวมในการตัดวงจรหมูเป็นจะมีหลายรูปแบบ หลายรายขาดเงินทุนจากที่เลี้ยงด้วยหัวอาหารก็เลี้ยงด้วยหางอาหาร ลูกคลอดออกมาแต่ละครั้งก็มีจำนวนน้อยลง การใช้ยาปฏิชีวนะหรือวัคซีนก็ใช้น้อยลง เมื่อเห็นว่าไม่คุ้มในการเลี้ยงก็ต้องทุบหมูขายออกไป” นายนิพัฒน์กล่าว

นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินการตามมติพิกบอร์ด ให้นำลูกสุกรไปผลิตเป็นหมูหันแล้ว 10,000 ตัว แต่อาจยังไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพราคาสุกรขุนมีชีวิตชัดเจนมากนัก ทางกรมปศุสัตว์จึงเร่งจัดหาช่องทางจำหน่ายเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์กลุ่มผู้เลี้ยงรายย่อย โดยขอความร่วมมือบริษัทรายใหญ่และผู้ค้าปลีก เช่น CPF

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญที่ทำให้ราคาสุกรตกต่ำ คือ ผลิตสุกรในประเทศจำนวนมาก แต่การส่งออกต่างประเทศลดลง จึงต้องประสานทุกฝ่ายเพื่อรักษาสมดุลทั้งปริมาณ ผลผลิต และราคาอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ 9 บริษัทผู้เลี้ยงสุกรที่ร่วมหารือ เช่น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท เบทาโกร จำกัดบริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท เอสพีเอ็มฟาร์ม จำกัด (SPM), บริษัท วีพีเอฟ กรุ๊ป (1973) จำกัด (VPF), บริษัท กาญจนากรุ๊ป(KN), PAKT กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรปากท่อ, บริษัท พนัสโภคภัณฑ์ จำกัด และบริษัท อาร์เอ็มซี ฟาร์ม จำกัด จ.บุรีรัมย์ (RMC)