ลุ้นศาลปลดล็อกที่ดิน”สุขสวัสดิ์” สยามแก๊สลุยสร้างคลังแทนเรือLPG

เรือก๊าซลอยน้ำ - สยามแก๊สฯ ลอยลำเรือก๊าซลอยน้ำ ไว้ที่บริเวณอ่าวอุดม จังหวัดชลบุรี เพื่อรองรับการนำเข้าก๊าซ LPG และส่งต่อผ่านเรือเล็กเพื่อกระจายก๊าซไปยังผู้บริโภค ตามนโยบายของกระทรวงพลังงานในการเปิดเสรีนำเข้าก๊าซ LPG
สยามแก๊สฯลุ้นศาลปกครองยกเลิกคุ้มครองชั่วคราวพื้นที่ท่าเรือ-คลังก๊าซ LPG สุขสวัสดิ์ จ.สมุทรปราการ หวังเดินหน้าก่อสร้างคลังก๊าซขนาด 36,000 ตันให้เสร็จภายในปี”61 ทดแทนการนำเข้าที่ใช้เรือลอยน้ำ

ตามที่กรมธุรกิจพลังงานเปิดเสรีนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ LPG เพื่อเพิ่มผู้เล่นในตลาดค้าก๊าซ จากเดิมที่มีเพียงบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แล้วนั้น ทั้งนี้ยังได้ผ่อนปรนให้กับผู้ประกอบการบางรายที่ไม่มีความพร้อมด้านคลังก๊าซ ให้สามารถใช้คลังก๊าซลอยน้ำ (floating storage) สำหรับรองรับการนำเข้าได้เพียงไม่เกิน 3 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ลงทุนก่อสร้างท่าเรือและคลังก๊าซ LPG รองรับการนำเข้าในอนาคตด้วย

นายศุภชัย วีรบวรพงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SGP เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างท่าเรือและคลังก๊าซ LPG ในพื้นที่สุขสวัสดิ์ จังหวัดสมุทรปราการ ว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างก่อสร้างบางส่วนของโครงการ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการประกาศมาตรการคุ้มครองชั่วคราวจากศาลปกครองกลาง ภายหลังจากประชาชนในพื้นที่ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติใบอนุญาตว่าไม่มีการรับฟังความเห็นของคนในพื้นที่ โดยคาดว่าศาลปกครองกลางจะพิจารณาคดีดังกล่าวในเร็ว ๆ นี้ หากพิจารณาไปในทางบวก สยามแก๊สฯจะสามารถดำเนินการก่อสร้างท่าเรือและคลังก๊าซ LPG ขนาด 36,000 ตัน ให้แล้วเสร็จภายในปลายปี 2561 นี้ได้ทันที เท่ากับว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จก่อนครบกำหนดที่กรมธุรกิจพลังงานได้ผ่อนปรนเอาไว้ว่าจะต้องดำเนินการสร้างคลังให้แล้วเสร็จภายในปี 2563 นี้

โดยท่าเรือและคลังก๊าซในพื้นที่สุขสวัสดิ์ จะเป็นพื้นที่สำคัญในการรองรับการนำเข้าก๊าซ LPG เพื่อรองรับความต้องการใช้ในประเทศ ทั้งนี้ปัจจุบันสยามแก๊สฯนำเข้าโดยใช้เรือคลังก๊าซลอยน้ำ ลอยลำเหนืออ่าวอุดม จังหวัดชลบุรี เพื่อขนถ่ายจากเรือใหญ่มาพักไว้ หลังจากนั้นจึงกระจายก๊าซไปยังเรือเล็กเพื่อส่งต่อให้ผู้ใช้ก๊าซ LPG ในประเทศ สำหรับยอดขายในประเทศของปี 2560 ที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านตัน/ปี มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 2 เป็นรองเพียง ปตท.เท่านั้น

นอกจากนี้สยามแก๊สฯยังขยายตลาดไปยังประเทศอื่น ๆ เช่น ออสเตรเลีย, บังกลาเทศ, เมียนมา, มาเลเซีย, เวียดนาม, กัมพูชา, ฟิลิปปินส์, จีน, ฮ่องกง, และ สปป.ลาว อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับตลาดก๊าซ LPG ในประเทศจีนถือเป็นตลาดสำคัญเพราะเป็นตลาดใหญ่ และสยามแก๊สฯถือเป็นผู้ค้าก๊าซอันดับ 1 ในจีนด้วย เพราะมีคลังก๊าซ LPG ทั้งในเมืองซัวเถาและเมืองจูไห่ รวมกำลังการผลิต 300,000 ตัน และยังเตรียมขยายตลาดไปยังจีนตอนเหนือเพิ่มเติมด้วย

“ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ว่าประชาชนในพื้นที่ต่อต้านโครงการ แต่ฟ้องภาครัฐที่กำกับดูแล เพราะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาต เราทำทั้งหมดเรียบร้อยตามที่กฎหมายกำหนด เรื่องนี้ก็อยากให้จบเร็ว ๆ จะได้เดินหน้าก่อสร้างในส่วนที่เหลือต่อไป ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จก็จะช่วยให้มีความคล่องตัวในการนำเข้าก๊าซ LPG และแข่งขันในตลาดนี้ได้”

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ปัญหาของโครงการสร้างท่าเรือและคลังก๊าซ LPG ของสยามแก๊สฯนั้น เกิดจากประชาชนในพื้นที่รอบโครงการได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ตั้งแต่ระดับนายกเทศมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และกรมเจ้าท่า ฯลฯ กรณีที่อนุมัติให้สยามแก๊สฯก่อสร้างท่าเทียบเรือเพื่อขนถ่ายก๊าซ LPG น้ำมัน ไปจนถึงถ่านหิน และยังอนุมัติให้มีการก่อสร้างอาคารเพื่อเป็นคลังก๊าซที่ระดับ 100,000 ตัน และคลังเก็บถ่านหิน แต่กลับไม่มีการเปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วมและไม่เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้สยามแก๊สฯเตรียมขยายธุรกิจไปสู่เชื้อเพลิงอื่น ๆ ที่ในอนาคตจะเป็นที่ต้องการของตลาด อย่างก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ด้วย นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGATi) ในการเข้าร่วมประมูลเพื่อนำเข้าก๊าซ LNG ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในโครงการนำร่องเพื่อเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติประมาณ 1.5 ล้านตัน ที่คาดว่า กฟผ.จะเปิดประมูลในเร็ว ๆ นี้