กรมเจรจาการค้าฯ จับมือกรมปศุสัตว์ เดินสายติวเข้มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อภาคตะวันออกเฉียงเหนือรับมือการค้าเสรี

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศร่วมกับกรมปศุสัตว์ ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจัดสัมมนาเรื่องการเตรียมความพร้อมอุตสาหกรรมโคเนื้อและผลิตภัณฑ์รองรับการค้าเสรี ณ โรงแรมฟอร์จูน ริเวอร์วิว ณ จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 22 – 23 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา

ตามนโยบายนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากโดยดึงศักยภาพท้องถิ่น สร้างโอกาสและสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงให้เกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่เห็นโอกาสสร้างรายได้ในยุคการค้าเสรี จึงได้ลงพื้นที่ติดตามความพร้อมและให้ข้อมูลช่องทางการใช้ประโยชน์จากการค้าเสรีแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการเพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัว ใช้โอกาสและประโยชน์จากการเปิดเสรีที่เกิดขึ้น

นางอรมนกล่าวว่า ผลจากการลงพื้นที่พบปะเกษตรกรโคเนื้อในวันที่ 22 มีนาคม 2561 ได้แก่ สหกรณ์โพนยางคำ จ. สกลนคร กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุน อ.นาแก และบริษัทนครพนมบีฟ (ไทยแลนด์) จำกัด จ. นครพนม พบว่า กลุ่มเกษตรกรโคเนื้อในพื้นที่มีความมุ่งมั่นที่จะปรับตัวเพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงจากโคเนื้อโดยเห็นความสำคัญของการรักษามาตรฐานสินค้าโคเนื้อ ให้อยู่ในระดับพรีเมียมตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์ การเอาใจใส่ในการเลี้ยง การติดตามตรวจสอบย้อนกลับของสินค้าเนื้อโค การผลักดันการปรับปรุงโรงฆ่าสัตว์เข้าสู่ระบบมาตรฐาน GMP เพื่อสร้างความมั่นใจในสินค้าให้แก่ผู้บริโภค

นอกจากนี้ ยังได้พยายามศึกษาแนวทางการแปรรูปเนื้อ ให้สินค้าหลากหลายมากขึ้น เพื่อยกระดับสินค้าและความต้องการของผู้บริโภค ในการนี้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจึงได้แนะนำช่องทางการขยายตลาดโคเนื้อไปยังประเทศอาเซียนและจีนที่ได้มีการลดภาษีเป็น 0% ให้ไทยภายใต้ FTA

พร้อมกันนี้ยังได้ให้ข้อมูลกิจกรรมของกระทรวงพาณิชย์ที่จะสามารถเข้าไปให้ความรู้และส่งเสริมการตลาดให้กับสินค้าเกษตรและผู้ประกอบการไทยกลุ่มโคเนื้อ อาทิ การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อยกระดับและสร้างความแตกต่างให้สินค้า หรือในกรณีเนื้อโคขุนโพนยางคำที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็น GI ตั้งแต่ปี 2552 จะต้องรักษามาตรฐาน GI เนื่องจากเนื้อโคขุนโพนยางคำถือเป็นเนื้อแนวหน้าของไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค จึงจำเป็นที่จะต้องรักษาคุณภาพ และบริหารจัดการ GI ให้ดี และอาจต้องใช้กลไกทางกฎหมายรับมือกับผู้ละเมิดนำชื่อเนื้อโคขุนโพนยางคำมาใช้ประโยชน์ทั้งที่ไม่ได้เป็นเจ้าของ นอกจากนี้การรวมกลุ่มของเกษตรกร สหกรณ์ที่ต้องการนำสินค้าโคเนื้อเข้าสู่ตลาดเองควรมีการจัดทำแผนธุรกิจ การพัฒนาการทำธุรกิจของ กลุ่มสหกรณ์และวิสาหกิจแบบมืออาชีพ การขยายโอกาสหรือช่องทางธุรกิจผ่านระบบแฟรนไชน์ เป็นต้น

สำหรับการทำตลาดต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์สามารถเป็นตัวกลางเชื่อมต่อหาข้อมูลความต้องการสินค้าของตลาดต่างประเทศให้ได้ และเพื่อให้สินค้าโคเนื้อเป็นที่ยอมรับจากตลาดต่างประเทศ เกษตรกรจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้าและมีวิธีบริหารจัดการโคเนื้อทั้งระบบให้ได้ตามมาตรฐานสากล

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า การสัมมนาในวันที่ 23 มีนาคม 2561 ซึ่งมีเกษตรกรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโคเนื้อเข้าร่วมกว่า 150 คน มีผู้เชี่ยวชาญและวิทยากรจากหลายภาคส่วนเข้าร่วม อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ สถาบันอาหาร สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคขุน สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป หอการค้าไทย และผู้ค้าโคเนื้อ เป็นต้น ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่เห็นความร่วมมือและความพยายามของทุกฝ่าย ทำให้มั่นใจได้ว่าอุตสาหกรรมโคเนื้อไทยจะสามารถเติบโตและยืนหยัดต่อไปได้ สิ่งที่สำคัญคือ การตลาดต้องเคียงข้างไปกับการผลิต เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมโคเนื้อ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อให้ได้โคที่มีคุณภาพสร้างความแตกต่างตามความต้องการของตลาดและผู้บริโภค สามารถที่จะรักษาตลาดภายใน และหาตลาดส่งออกรองรับได้

ทั้งนี้ ไทยผลิตโคเนื้อเฉลี่ยปีละ 1 ล้านตัว ขณะที่ความต้องการบริโภคในประเทศอยู่ที่ 1.2 ล้านตัว จึงมีการนำเข้าโคมีชีวิตประมาณ 1.2 แสนตัวในปี 2560 ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากเมียนมาร์ (99.13%) และออสเตรเลีย (0.68%) และมีการนำเข้าเนื้อโคและผลิตภัณฑ์จากออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ตามความต้องการเนื้อโคแบบปิ้งย่างและชาบูที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ไทยก็มีการส่งออกโคมีชีวิต เนื้อโคและผลิตภัณฑ์ไปประเทศเพื่อนบ้าน โดยในปี 2560 ส่งออกโคมีชีวิต 1.6 แสนตัว มูลค่า 2,090 ล้านบาท มีตลาดหลักได้แก่ สปป. ลาว และบางส่วนเข้าสู่ตลาดจีน และมาเลเซีย และมีการส่งออกเนื้อโคและผลิตภัณฑ์ 119.23 ตัน ส่วนใหญ่ไปกัมพูชาและลาว

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศและกรมปศุสัตว์ยังมีแผนที่จะลงพื้นที่พบปะเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในพื้นที่ภาคกลางต่อไป ผู้สนใจเข้าร่วมสามารถติดตามการดำเนินงานการเตรียมความพร้อมการเปิดตลาดเสรีได้จากเว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ www.dtn.go.th