ยอดนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย 2 เดือน พุ่ง 16.02% มูลค่า 4,627 ล้านเหรียญสหรัฐ

ยอดนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย 2 เดือนพุ่ง 16.02% มูลค่า 4,627 ล้านเหรียญสหรัฐ “พาณิชย์” เผยสาเหตุมาจากการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์-จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาไทย มีการซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น-บาทแข็งค่าหนุน เตรียมรายงาน “บิ๊กตู่” หลังสั่งเกาะติดสถานการณ์นำเข้า

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สถิติการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค (สินค้าฟุ่มเฟือย) ช่วง 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) 2561 มีมูลค่า 4,627 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.02% หากนับเฉพาะการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนก.พ. 2561 มีการนำเข้ามูลค่า 2,186 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.38% ซึ่งเป็นการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2560 ที่ผ่านมา

สาเหตุของการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำเข้าสินค้าผ่านการซื้อสินค้าช่องทางออนไลน์ (อี-คอมเมิร์ซ) ในเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์โด่งดังจากทั่วโลก สะท้อนว่าคนไทยมีการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น อีกปัจจัยเป็นผลจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวในไทย และมีการซื้อสินค้าผ่านร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ ฟรี) ภายในสนามบิน ทำให้มีการซื้อสินค้าแบรนด์ชั้นนำ เช่น น้ำหอม เสื้อผ้า เพิ่มขึ้น เป็นผลทำให้ต้องมีการนำเข้าสินค้าเหล่านี้มาวางจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งค่าเงินบาทแข็งค่า ทำให้มีการนำเข้าเพิ่ม

“จะมีการรายงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบ เพราะนายกฯได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ดูแลเรื่องการนำเข้า เพราะหากเป็นการนำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบ ที่นำมาผลิตสินค้าและส่งออกจะเป็นเรื่องดีต่อประเทศ แต่หากเป็นการนำเข้าสินค้าในกลุ่มฟุ่มเฟือยจากต่างประเทศ ก็ต้องจับตาดู โดยสำนักงานฯมองว่าอยากให้คนไทยซื้อสินค้าแบรนด์ไทยในสินค้าชนิดเดียวกันที่ผลิตและมีคุณภาพใกล้เคียงกัน ก็จะเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศมากกว่า” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

สำหรับการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในช่วง 2 เดือน พบว่า เป็นการนำเข้าเสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์ทออื่นๆ มูลค่า 365 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 33.73% สบู่ ผงซักฟอก และเครื่องสำอาง 232 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 43.66% เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค 147 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 29.72% ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ 459 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 12.57% ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม 612 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 27.09% นาฬิกาและส่วนประกอบ 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 33.61% เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน 1,181 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 7.05% และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ 17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 71.84%