
“ชัยวัฒน์” CEO กลุ่มบริษัทบางจาก ร่วมเสวนา 1st Global Sustainability & Productivity Network Dialogue ต่อสู้กับวิกฤตโลกที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ด้วยแนวทางการสร้างความยั่งยืน
วันที่ 10 สิงหาคม 2566 นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รับเชิญร่วมเสวนาในหัวข้อ “Collaborative Approaches to Achieving SDGs : Case Studies and Lessons from Bilateral and Multilateral Cooperation” แบ่งปันประสบการณ์การดำเนินงานของบางจากฯ ในฐานะภาคเอกชนในงานเสวนา 1st Global Sustainability & Productivity Network Dialogue จัดโดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติร่วมกับ Diplomatic Council & GEN THAILAND ณ อาคาร UNESCAP
โดยในงานนี้มีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ H.E. Paolo Dionisi เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย Mr.Michael Helleman ทูตพาณิชย์อาวุโสและอัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย และ ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTDA)
นายชัยวัฒน์ได้กล่าวถึงการผสาน UNSDGs และ ESG เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจของบางจากฯ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมธุรกิจควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด โดยบางจากฯ เป็นหนึ่งในองค์กรร่วมก่อตั้ง UN Global Compact Thailand เมื่อปี พ.ศ. 2559 นอกจากนี้ บางจากฯยังให้ความสำคัญกับการปรับปรุงประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิต ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม และเป็นโรงกลั่นน้ำมันเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ Thailand Quality Award ประจำปี 2565
นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงแผนงาน BCP316 NET เพื่อบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ในปี พ.ศ. 2593 ซึ่งครอบคลุมการปรับปรุงประสิทธิภาพต่าง ๆ ในกระบวนการผลิต การลงทุนในนวัตกรรมที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตและลดคาร์บอนฟุตพรินต์ การดูดซับคาร์บอนด้วยธรรมชาติ การเพิ่มสัดส่วนธุรกิจสีเขียว การผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) จากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว ซึ่งตอบโจทย์ทั้งในแง่โอกาสทางธุรกิจและการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการสร้างระบบนิเวศสำหรับสังคมคาร์บอนต่ำผ่าน Carbon Markets Club
นายชัยวัฒน์กล่าวทิ้งท้ายว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกขึ้นอยู่กับพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นระยะเวลากว่า 100 ปี การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดในทันทีจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แม้ว่าได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว พลังงานสะอาดในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังไม่สามารถทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ การขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดโดยภาคธุรกิจไม่เพียงพอ บทบาทของภาครัฐมีความสำคัญที่จะเข้ามาสร้างแรงจูงใจ หรือกำหนดมาตรการเพื่อช่วยเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านของพลังงาน เช่น การสร้างมาตรฐานในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต
งานเสวนานี้จัดขึ้นเพื่อให้ภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมหารือค้นหาทางออกในการต่อสู้กับวิกฤตโลกที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ด้วยแนวทางการสร้างความยั่งยืน ปรับปรุงกระบวนการเพื่อเพิ่มผลผลิต สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิผลสูงสุดและบรรลุผลสำเร็จ จากแบ่งปันความรู้ แนวปฏิบัติที่ดีที่สุด โดยมีผู้ร่วมงานเสวนาจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ เอกอัครราชทูตจากนานาประเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพิ่มผลผลิต นักวิจัย นักวิชาการ และภาคประชาสังคม