3 พันสินค้าเฮรับGSP ต่อ 2 ปี พาณิชย์ถกTIFA เว้นม.232-เปิดเสรีหมู

สหรัฐเคาะต่ออายุโครงการ GSP ยาวถึงปี’63 พร้อมคืนภาษีย้อนหลังถึง 31 ธ.ค. 60 “ปลัดพาณิชย์” นำทัพถกเปิดเวที TIFA ไทยเตรียมขอยกเว้น 232 เหล็ก-อะลูมิเนียม ด้านหอการค้าจับตาสหรัฐยกประเด็นเปิดเสรี “หมู-แรงงาน” จี้ไทยลดภาษีรถยนต์ เปิดเสรีบริการการเงิน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2561 สหรัฐได้พิจารณาผ่านร่างกฎหมายต่ออายุโครงการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าไทยจำนวนกว่า 3,000 รายการ เป็นระยะเวลา 2 ปี ระหว่างปี 2561-2563 โดยให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 มกราคม 2561 นับแต่โครงการเดิมสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ผู้นำเข้าสินค้าไทยสามารถขอคืนภาษีจีเอสพีย้อนหลังได้ ปัจจัยนี้จะทำให้การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐมีโอกาสขยายตัวสูงจากช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ไทยส่งออกไปสหรัฐ 4,203 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.2%

“GSP เป็นโครงการที่รัฐบาลสหรัฐยกเว้นภาษีนำเข้าให้กับสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุด รวม 131 ประเทศ สร้างประโยชน์ให้การส่งออกของไทยมาตั้งแต่ปี 2519 ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และช่วยให้สหรัฐลดการนำเข้าจากจีน เพิ่มช่องทางการนำเข้าสินค้าจากหลากหลายแหล่งให้แก่ผู้นำเข้าได้เลือกสินค้าที่มีคุณภาพและราคาที่เหมาะสม”

ในปี 2560 ไทยใช้สิทธิจีเอสพีส่งออกถึง 4,150.59 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 69.98% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้สิทธิจีเอสพี 5,931 ล้านเหรียญสหรัฐ (ตาราง) โดยสินค้าที่ใช้สิทธิสูงสุดคือเครื่องดื่ม เครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง ส่วนประกอบยานยนต์ เครื่องยนต์ดีเซล รถจักรยานยนต์ ผลไม้ปรุงแต่ง และเลนส์แว่นตา เป็นต้น

แหล่งข่าวกล่าวถึงการเตรียมประเด็นการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐ (Trade and Investment Framework Agreement Joint Council : TIFA JC) ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ซึ่งนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ จะนำคณะไปประชุมในเดือน เม.ย. 61 ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ว่า เบื้องต้นจะหารือเรื่องการขอยกเว้นใช้มาตรา 232 (national security) สินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากไทย จากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมทุกรายการที่นำเข้าจากทั่วโลกในอัตรา 25% และ 10% ตามลำดับ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. 2561

โดยให้เหตุผลว่า การนำเข้าสินค้าจากไทยไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับประเด็นเรื่องความมั่นคง อีกทั้งไทยเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐ

ส่วนประเด็นที่คาดว่าสหรัฐจะหยิบยกขึ้นมาหารือคือ การเปิดตลาดสุกร ซึ่งพยายามผลักดันมาตลอด รวมถึงการแก้ไขปัญหาการให้ความคุ้มครองแรงงานและสวัสดิภาพแรงงานต่างด้าว

สำหรับการติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตามแผนปฏิบัติ (action plan) คงมีการดำเนินการต่อเนื่องหลังจากสหรัฐได้ประกาศผลการพิจารณาทบทวนสถานะของไทยนอกรอบ (out of cycle review) ตามกฎหมาย 301 พิเศษ ให้ไทยมีสถานะดีขึ้น เป็นประเทศที่ต้องเฝ้าจับตามอง (watch list : WL) จากเดิมที่ไทยอยู่ในลิสต์ประเทศที่ต้องจับตามอง (Piority watch list : PWL) เมื่อปลายปี 2560 ซึ่งการประชุมครั้งนี้คงเป็นการติดตามความคืบหน้าก่อนที่สหรัฐจะพิจารณาทบทวนสถานะการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้าตามรอบปกติ (Regular Review) ซึ่งจะประกาศผลในวันที่ 30 เมษายน 2561 ทั้งนี้ คาดว่าไทยจะยังคงอยู่ในบัญชี WL ต่อไป

ด้านนายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าการประชุม TIFA ไทยต้องเตรียมความพร้อมให้ดี เพราะก่อนหน้านี้สหรัฐได้เจรจากับเกาหลีใต้ โดยขอให้เกาหลีใต้แก้ไขความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) โดยขยายระยะเวลาลดภาษีรถยนต์จากปี 2021 เป็นปี 2041 และเปิดตลาดให้รถยนต์สหรัฐมากขึ้น

ส่วนการเจรจากับไทยน่าจะมีทิศทางเดียวกัน โดยคาดว่าสหรัฐจะขอให้ไทยเปิดตลาดลดภาษี เพื่อนำเข้าสินค้าจากสหรัฐให้มากขึ้นเป็นพิเศษ เพราะประธานาธิบดีทรัมป์มีนโยบายมุ่งเน้นอเมริกาเป็นหลัก (American First) ต้องการลดการขาดดุลการค้ากับประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทยทำให้สหรัฐขาดดุลการค้าเฉลี่ย 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

“ที่ผ่านมาสหรัฐจะยกประเด็นข้อกังวลในรายงาน National Trade Estimate (NTE) ทุก ๆ ปี ว่า ไทยมีภาษีนำเข้าสูง โดยเฉพาะรถยนต์ 300% ซึ่งโดยปกติทุกประเทศมีอัตราที่ผูกพันไว้ในองค์การการค้าโลก (WTO) หรือที่เรียกว่า MFN แต่ส่วนใหญ่ไทยจะกำหนดไว้สูงกว่า MFN จึงมีความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะขอให้ลดในระดับใกล้เคียงกับสหรัฐ เช่น รถเก๋ง อัตรา 2.5% รถกระบะ 5% ขึ้นอยู่กับการเจรจา ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร แต่คงไม่ขัด WTO และไทยไม่ต้องชดเชยให้ใคร เพราะในความตกลงอาเซียนไทยลดภาษีให้อาเซียนเป็น 0% ไปแล้ว”

นอกจากนี้มีการขอเปิดตลาดหมู รวมถึงการเปิดตลาดธุรกิจบริการด้านการเงิน ซึ่งการเปิดตลาด 2 รายการนี้อาจถูกมองว่าส่งผลกระทบต่อเกษตรกร แต่มาตรฐานสุกรของสหรัฐสูง การเปิดตลาดจะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกเพียงแต่ไทยต้องวางระบบมาตรฐานการตรวจสอบที่ชัดเจน เช่นเดียวกับการเปิดตลาดบริการทางการเงินจะทำให้ ต้นทุนการทำธุรกรรมถูกลง ส่งผลดีต่อผู้บริโภค