องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) รวมพลังคนไทยต่อต้านคอร์รัปชัน กว่า 3,000 คน พร้อมนำเสนอ 5 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลใหม่
วันที่ 6 กันยายน 2566 นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดงาน “วันต่อต้านคอร์รัปชัน 2566” ครั้งที่ 12 ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (บางซื่อ) รวมพลังคนไทยกว่า 3,000 คน ร่วมต่อต้านคอร์รัปชัน พร้อมนำเสนอ 5 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชูนโยบายการปราบปรามคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ เร่งรัดออกกฎหมายแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน
สถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศไทยอยู่ในขั้นวิกฤต จากความรุนแรงและขนาดของปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนทั้งในทางสังคมมิติต่าง ๆ และในทางเศรษฐกิจที่ยากจะประเมินมูลค่าความเสียหายได้ เพราะเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อ สั่งสมมานาน มีความรุนแรงกว่าปัญหาภัยพิบัติต่าง ๆ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ในนามองค์กรภาคประชาชน จึงขอเสนอให้รัฐบาลจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน” (War Room for Anti-Corruption) เร่งแก้วิกฤตคอร์รัปชันในเชิงรุกเป็นพันธกิจหลัก บนหลักการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
“การจะก้าวข้ามวิกฤติคอร์รัปชันได้สำเร็จ จนเกิดเป็นความอยู่ดีมีสุขของคนในสังคมนั้น จำเป็นต้องอาศัยบทบาทและพลังความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วน รวมทั้งความมุ่งมั่นในนโยบายและการปฏิบัติที่ชัดเจนจากภาครัฐ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ รัฐบาลจะต้องไม่ทำให้ประชาชนผิดหวัง ไม่ลดทอนพลังการมีส่วนร่วมของประชาชน และต้องรับผิดชอบจริงจัง ทำให้กระบวนการมีส่วนร่วมนี้เข้มแข็งยิ่ง ๆ ขึ้น” นายวิเชียรกล่าว
สำหรับการจัดงานในปีนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้จัดกิจกรรมภายใต้แนวคิด WHAT THE FACT ? “ค้นหาความจริง-ใจในการต่อต้านคอร์รัปชัน” เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทุจริตได้อย่างง่ายดาย โดยมีประชาชนและองค์กรต่าง ๆ กว่า 3,000 คน ร่วมเดินขบวนพาเพรดแสดงพลังต่อต้านคอร์รัปชัน พร้อมนำเสนอ 5 ข้อเรียกร้องการต่อต้านคอร์รัปชันถึงรัฐบาลชุดใหม่ นำโดยนายเศรษฐาทวีสิน นายรัฐมนตรี ที่เข้าร่วมประกาศพันธสัญญาต้านโกง เพื่อแสดงถึงจุดยืนในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของรัฐบาลในครั้งนี้ด้วย
ในฐานะองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ผู้เป็นตัวแทนเสียงของประชาชน ได้เสนอข้อเรียกร้องเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันถึงรัฐบาลใหม่ 5 ข้อ ดังนี้
1.กำหนดให้การปราบปรามคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการที่มีตัวแทนทุกภาคส่วน
มีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน พร้อมมี War Room เพื่อการทำงานอย่างทันเหตุการณ์
2.สนับสนุนให้ ป.ป.ช. สตง. และ ป.ป.ท. ทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ เป็นกลาง มีเอกภาพออกจากรัฐบาล
3.เร่งรัดการออกกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันที่ค้างคาอยู่ เช่น กฎหมายข้อมูลสาธารณะในความครอบครองของรัฐ กฎหมายปกป้องผู้เปิดโปงคอร์รัปชัน หรือกฎหมายป้องกันการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น
4.ทุกหน่วยงานต้องพร้อมเปิดเผยข้อมูล นับจาก TOR ไปจนถึงสัญญาต่าง ๆ ในรูปแบบที่สามารถเชื่อมโยงกับ ACT Ai ตามมาตรฐานสากลได้อย่างโปร่งใสและถูกต้อง
5.แก้ไขกฎระเบียบราชการต่าง ๆ ที่ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลปัญหาคอร์รัปชัน และเมื่อพบกรณีทุจริตคอร์รัปชัน ให้ติดตามแก้ไขลงโทษในทันที อย่าประวิงเวลาจนประชาชนลืม
ภายในงานได้จัดเวทีเสวนาพลังหญิงต้านโกง “ACTIVE WOMEN” เพื่อแสดงบทบาทของผู้หญิงในการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยเชิญผู้มีอิทธิพลทางความคิดในภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำสภามหาวิทยาลัย และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คุณอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ คุณปรินดา คุ้มธรรมพินิจ ผู้ประกาศข่าว คุณณัฏฐา มหัทธนา นักวิเคราะห์ประเด็นสังคม และคุณจงใจ กิจแสวง เจ้าของแบรนด์หมูทอดเจ๊จง ดำเนินรายการโดย ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน
นอกจากนี้ ได้มีการสาธิตการใช้งานเว็บไซต์ “ACT Ai” โดยคุณหนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังด้านไอที ที่เปิดให้ประชาชนร่วมตรวจสอบโครงการที่สุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตได้ง่าย ๆ เพียง “แค่สงสัยก็เสิร์ช ACT Ai เลย” เป็นช่องทางในการให้ประชาชนร่วมตรวจสอบโครงการต่าง ๆ ที่มีข้อสงสัยได้ง่าย ๆ ผ่านเว็บไซต์ “ACT Ai”
#ACTDAY2566 #ACTDAY2023 #WHATTHEFACT #แค่สงสัยก็เสิร์ชACTAiเลย #ค้นหาความจริงใจในการต่อต้านคอร์รัปชัน