“สมคิด” จ่อเสนอครม.อนุมัติ “สมาร์ทวีซ่า” ชี้เเนวทางลดอุปสรรค หนุนสตาร์ตอัพเต็มที่ !

ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังประชุมการเข้าถึงเงินทุนจากVC โดย Startup ว่า ในการประชุมคณะรัฐมตรี (ครม.) สัปดาห์นี้ จะเสนอให้ที่ประชุมอนุมัติสมาร์ทวีซ่าสำหรับคนต่างประเทศเพื่อสนับสนุนให้ผู้เชี่ยวชาญในอาชีพต่างๆ เข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยเฉพาะในธุรกิจสตาร์ตอัพ

ส่วนระบบภาษีเพื่อหนุนให้เกิดสตาร์ตอัพและการลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพนั้นมีอยู่แล้ว ในส่วนข้อเสนอภาคเอกชนสะท้อนว่าสิงคโปร์มีนโยบายสนับสนุนสตาร์ตอัพขั้นพื้นฐานแล้วยังมีนโยบายจับแมทชิ่งฟันด์ ซึ่งไทยยังไม่มีนั้น ไทยมีกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายอยู่แล้ว สามารถใช้เพื่อเป็นกองทุนในลักษณะแมทชิ่งฟันด์ได้ และเรื่องแมทชิ่งฟันด์มอบหมายให้ปลัดกระทรวงการคลังไปพิจารณาว่าจะสามารถดำเนินการเพิ่มเติมได้บ้าง

นายสมคิด กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนสตาร์ตอัพมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีอุปสรรคติดขัดบ้าง ดังนั้นการประชุมครั้งนี้ เพื่อรวบรวมและหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวทั้งภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา โดยมองว่าสตาร์ตอัพไทยมี 3 ขั้น ได้แก่1.ขั้นการบ่มเพาะซัพพลายให้เกิดขึ้น 2.ขั้นตัวอ่อนหรือการอยู่ในช่วงเพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจ และ 3.ขั้นที่มีการทำธุรกิจและพร้อมที่จะเทคออฟแล้ว

“ปัญหาการพัฒนาสตาร์ตอัพ คือ การลงทุนในเวนเจอร์แคปปิตอลและคอร์เปอเรท เวนเจอร์แคปปิตอล ส่วนใหญ่จะเลือกลงทุนในกลุ่มสตาร์ตอัพกลุ่ม 3 หรือขั้นที่มีการทำธุรกิจและพร้อมที่จะเทคออฟแล้ว อีกปัญหาคือเรื่องกฎหมายในทางเทคนิค หรือกฎหมายที่เป็นเทคโนโลยีเบส ได้มอบหมายให้นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ดูแล และมอบหมายให้ตลท.ร่วมมือกับภาคเอกชนตั้งแองเจิลฟันด์ขึ้นมา ในลักษณะงบความรับผิดชอบต่อสังคม (ซีเอสอาร์) เพื่อให้การสนับสนุนและสร้างซัพพลายและตัวอ่อนให้เกิดขึ้น โดยตลท.เป็นตัวกลางจัดงานใหญ่เพื่อให้ผู้ประกอบการและสถาบันการศึกษาได้คุยกันว่าจะต้องพัฒนาสตาร์ตอัพอย่างไรบ้าง ”

ในส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มอบหมายให้นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดูแล โดยให้แยกหน่วยงานในกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเข้าดูแลสตาร์ตอัพโดยเฉพาะ จากปกติกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมดูแลผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพียงอย่างเดียว

นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่าสตาร์ตอัพไทยรายเล็ก ต้องการเงินลงทุนโดยเฉลี่ย 10-20 ล้านบาท ขณะที่สตาร์ตอัพรายใหญ่ต้องการเงินลงทุน 40-50 ล้านบาท

โดยมีสตาร์ตอัพที่อยู่รอดและผ่านขั้นตอนการเติบโตต่างๆ จนสามารถรับเงินทุนจากธุรกิจเงินร่วมลงทุน (วีซี) ได้ประมาณ 10% ของสตาร์ตอัพที่เกิดขึ้นทั้งหมด ปัจจุบันไทยมีวีซีไทยขนาดใหญ่ 15 ราย แบ่งเป็นวีซีของภาครัฐ วีซีของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ และวีซีอิสระ และมีวีซีต่างประเทศอีก 15 ราย มีวงเงินสนับสนุนสตาร์ตอัพไทยที่ 2.7 หมื่นล้านบาท โดยปกติแล้ววีซีจะขายหุ้นหรือออกจากการลงทุนในสตาร์ตอัพหลังจากการเข้าลงทุนแล้ว 3 ปี เพื่อนำเงินที่ได้จากการลงทุนมาลงทุนในบริษัทอื่นต่ออีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สตาร์ตอัพยังต้องการเพิ่มเติม คือ ความสามารถเชิงนวัตกรรม ความสามารถในเชิงการจัดการ โดยพบว่า 50% ของสตาร์ตอัพไม่เคยเข้าโปรแกรมการบ่มเพาะของรัฐหรือเอกชน และ 80% ไม่เคยลงทุนหรือเป็นลูกจ้างของธุรกิจสตาร์ตอัพมาก่อน ผู้ที่เกี่ยวข้องควรกระตุ้นให้เกิดวีซีที่เป็นของบริษัทขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยให้บริษัทเหล่านั้นมีความพร้อมและความกล้าที่จะร่วมลงทุนจริง เป็นต้น

ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์และประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูล ยังพบว่า มีสตาร์ตอัพไทยหลายรายที่ดำเนินธุรกิจหรือธุรกรรมในไทย แต่ไปจดทะเบียนที่ประเทศมาเลเซียหรือสิงคโปร์ เนื่องจากทั้งสองประเทศมีนโยบายที่สนับสนุนเปิดกว้าง ทั้งปัจจัยพื้นฐาน เช่น ภาษีนิติบุคคล การอนุญาตการทำงานของพนักงานต่างประเทศ และกองทุนแมทชิ่งฟันด์ ในอนาคตเครือเจริญโภคภัณฑ์และทรูยังคงเดินหน้าสนับสนุนธุรกิจสตาร์ตอัพอย่างต่อเนื่อง โดยจะลงทุนสตาร์ตอัพอยู่ในไทยและภูมิภาค รวมถึงสนับสนุนนักศึกษามหาวิทยาลัยที่มีแนวคิดใหม่ๆ ด้วย

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์