“บิ๊กฉัตร” พร้อมรายงาน IUU 6 ข้อก่อนเจ้าหน้าที่ EU ตรวจการบ้าน 4-15 เม.ย.นี้

“บิ๊กฉัตร” พร้อมรายงาน IUU 6 ข้อก่อนเจ้าหน้าที่ EU ตรวจการบ้าน 4-15 เม.ย.นี้ เผยเช็กรายชื่อแรงงานประมงเข้าระบบครบถ้วน พร้อมข้อมูลทะเบียนเรือ

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันที่ 4-15 เม.ย.2561 นี้ คณะผู้แทนจากสหภาพยุโรป (EU) จะเดินทางมาตรวจประเมินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายไร้การควบคุม (IUU) โดยมี 6 ประเด็นที่ต้องรายงาน อาทิ 1.การตรวจสอบย้อนกลับ 2.กฎระเบียบและประกาศกรมเจ้าท่า 3.การบังคับใช้กฎหมายและมาตรการทางปกครอง 4.ติดตามความคืบหน้าผลการสำรวจกองเรือ 5.การติดตาม ควบคุมและเฝ้าระวัง (MCS) และ 6.การบังคับใช้กฎหมายและการลงโทษโดยเฉพาะปัญหาแรงงานประมงต่างด้าวที่ล่าสุดสามารถขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานถูกต้องเข้าระบบแล้วก่อนการปิดการลงทะเบียนเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีแรงงานภาคประมงไปลงทะเบียนทั้งการพิสูจน์เอกสารและสแกนม่านตาตามที่กระทรวงแรงงานกำหนด จำนวนประมาณ 1 ล้านคน ทั้งนี้ เพื่อการประมงอย่างยั่งยืนและลดปัญหาการแรงงานประมงผิดกฎหมายมากกว่าที่สหภาพยุโรปกำหนด และภายใน 2 ปีนี้ไทยจะสามารถกำหนดการประมงยั่งยืน Thai certificates ให้เป็นมาตรฐานการประมงได้เทียบเท่ามาตรการของสหภาพยุโรป

“ผมไม่เคยให้สัมภาษณ์ว่าการแก้ปัญหาไอยูยูจะช่วยให้ปลดใบเหลืองใบแดง แต่ทั้งหมดเป็นการแก้ปัญหาเพื่อการประมงที่ยั่งยืนโดยปัจจุบันไทยมีความคืบหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ และไทยได้ติดต่อกับอียูตลอดเพื่อขอคำแนะนำแก้ไขปัญหาประมงเนื่องจากอียูมีประสบการณ์มากกว่าโดยทุก 3 เดือน คณะกรรมการทั้ง 2 ฝ่ายจะมีการพบปะกันเพื่อร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาภาคประมงรวมถึงสัตว์น้ำที่จับในประเทศ (ฟรีไอยูยู) กำหนดไว้ว่าจะต้องไม่มีการทำประมงผิดกฎหมายแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องใช้เวลาอีก 2 ปีกว่า จะสมบูรณ์ต้องจัดทำตั้งมาตรฐานใหม่ของประเทศไทย ซึ่งเทียบเท่าได้กับมาตรฐานของอียู”

สำหรับการติดตามศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการทำประมง (FMC) ของกรมประมงนั้น หลังจากครั้งก่อนอียูได้ให้คำแนะนำกรมประมงได้มีการปรับปรุงระบบใหม่เพื่อติดตามเรือประมงทุกลำที่ผ่านเข้าออกในศูนย์เข้า-ออกเรือประมง (PIPO) ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้การดำเนินการรวดเร็วยิ่งขึ้นทั้งการเพิ่มความปลอดภัยในการส่งข้อมูลเรือจากเดิมใช้แอปพลิเคชันไลน์ให้มาส่งผ่านระบบภายในของกรมประมงเองเพื่อป้องกันข้อมูลรั่วไหลการตรวจสอบเรือประมงจากเครื่องติดตามเรือประมง (vms) และระบบตรวจสอบย้อนกลับ


อย่างไรก็ตาม กรมประมงได้ตั้งทีมวิเคราะห์พฤติกรรมเรือประมงและติดตามคดีที่ท่าเรือและเรือที่มีแนวโน้มว่าจะทำผิดกฎหมายรวมทั้งตรวจสอบคดีที่ไม่สามารถหาผู้กระทำความผิดได้ในการตรวจในทะเลหรือที่ท่าเรือ โดยจะมีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตรวจสอบข้อมูลลายลักษณ์อักษรจากหน่วยกองเรือ เรือจมเรือที่ส่งไปขายต่างประเทศทั้งหมดต้องส่งหลักฐานกลับมาตรวจสอบส่วนใบอนุญาตขึ้นทะเบียนตรวจสอบเรียบร้อยเเล้ว