“ปลัดแรงงาน” เผยสถานประกอบการพื้นที่ EEC ต้องการแรงงานภาคการผลิตมากสุด !

“จรินทร์ จักกะพาก”ปลัดกระทรวงแรงงาน เผย ผลสำรวจความต้องการแรงงานของสถานประกอบการในพื้นที่ EEC ปี 2561 พบว่า ผู้ประกอบการต้องการแรงงานกว่า 2 หมื่นคน ระดับการศึกษาต่ำกว่า ม.6 ต้องการมากสุด เพื่อทำงานในภาคการผลิตมากที่สุด ด้านกระทรวงแรงงานเริ่มนำร่องสำรวจความต้องการแรงงานพื้นที่ EEC เป็นต้นแบบสำรวจความต้องการแรงงานให้ครอบคลุมทุกจังหวัด เพื่อทุกภาคส่วนใช้เป็นฐานข้อมูลวางแผนพัฒนากำลังคนรองรับการขับเคลื่อนประเทศ

วันนี้ (3 เม.ย. 61) นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ณ ห้องวิมานสุริยา โรงแรมดุสิตธานี โดยในการประชุมดังกล่าว ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้นำเสนอข้อมูล สรุปผลสำรวจความต้องการแรงงานของสถานประกอบการของกลุ่มจังหวัด EEC ประกอบด้วย จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ปี 2561 (ข้อมูล ณ วันที่ 1 เม.ย.61) ซึ่งพบว่า

สถานประกอบการต้องการแรงงานทั้งสิ้น 21,323 คน โดยแรงงานที่ต้องการมากที่สุดเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาต่ำกว่า ม.6 จำนวน 9,506 คน รองลงมาเป็นแรงงานที่มีการศึกษาระดับ ป.ตรี จำนวน 3,817 คน ม.6 จำนวน 3,616 คน ปวส. จำนวน 2,587 คน ปวช. จำนวน 1,585 คน และ ป.โทหรือสูงกว่า 212 คน โดยสถานประกอบการต้องการแรงงานฝ่ายผลิตมากที่สุด รองลงมาเป็นฝ่ายบริการ ขายและการตลาด คลังสินค้าและขนส่ง ฝ่ายอื่นๆ บริหารทั่วไป การเงินและบัญชี จัดซื้อจัดหา และฝ่ายวางแผนและยุทธศาสตร์ ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังพบว่า งานการผลิตมีความต้องการแรงงานมากที่สุดถึง 10,912 คน รองลงมาเป็นงานบริการ 1,560 คน งานอื่นๆ 1,221 คน บำรุงรักษา 1,106 คน และควบคุมการผลิตและประกันคุณภาพ 1,037 คน ตามลำดับ

นายจรินทร์ กล่าวต่อว่า ผลจากการสำรวจความต้องการแรงงานของสถานประกอบการของกลุ่มจังหวัด EEC ในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ในการกำหนดแนวทาง วิธีการสำรวจ และสามารถเป็นต้นแบบเพื่อดำเนินการสำรวจในพื้นที่อีก 73 จังหวัดที่เหลือรวมทั้งกรุงเทพมหานครต่อไป ซึ่งกระทรวงแรงงานจะบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการช่วยกันจัดทำข้อมูลให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น อีกทั้งจะรับฟังข้อเสนอแนะ และช่วยกันดำเนินการปรับปรุงข้อมูลให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อจะได้นำผลการสำรวจความต้องการแรงงานในแต่ละพื้นที่ไปใช้ประโยชน์เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนพัฒนากำลังคนรองรับการขับเคลื่อนประเทศต่อไป