ปลุก WTO ตื่นอีกครั้ง เตรียมเดินหน้า “4 วาระสำคัญ”

WTO

ผ่านมาเกือบ 2 ปี หลังการจัดประชุมรัฐมนตรีการค้า องค์การการค้าโลกครั้งที่ 12 (MC12) ปิดฉากลงเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 มาจนถึงขณะนี้กำลังจะเกิดการประชุมรัฐมนตรีการค้าครั้งที่ 13 (WTO 13th Ministerial Conference : WTO MC13) ขึ้นที่กรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 26-29 กุมภาพันธ์ 2567

แต่ในช่วงที่ผ่านมาสมาชิก WTO ยังไม่ได้ข้อสรุปในหลายประเด็น แต่คาดว่านับตั้งแต่เดือนกันยายนนี้ การเจรจาจะเร่งเครื่องเร็วมากขึ้น เพื่อให้สามารถหาข้อยุติหรือตกลงกันได้บางเรื่องก่อนรัฐมนตรีการค้าจะพบกันปีหน้า

เจ้าหน้าที่อาวุโสเตรียมการ ต.ค.นี้

นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เปิดเผยว่า ในเดือนตุลาคม 2566 ที่จะถึงนี้ มีกำหนดจะมีการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Officials’ Meeting : SOM) เพื่อพยายามสรุปความคืบหน้าการหารือเรื่องต่าง ๆ ก่อนการประชุมรัฐมนตรี

               

โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นเรื่องกระบวนการและไม่อ่อนไหว และเพื่อพยายามหาแนวโน้มท่าทีของประเทศต่าง ๆ รวมถึงความพร้อมในการตัดสินใจทางการเมือง (political will) ในเรื่องที่อ่อนไหวด้วย ดังนั้น ในช่วง 2 เดือนข้างหน้าคาดว่าการเจรจาต่าง ๆ จะมีความเข้มข้นและรวดเร็วลงลึกมากขึ้นอย่างแน่นอน

สำหรับเรื่องที่สำคัญต่อประเทศไทยมีหลายเรื่อง เช่น การเจรจาต่อเนื่องเรื่องการอุดหนุนประมง การเจรจาเรื่องการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การเจรจาเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนการปฏิรูปองค์การการค้าโลก

จับตาแก้อุดหนุนประมง

สำหรับการเจรจาต่อเนื่องเรื่องการอุดหนุนประมง แม้ว่าความตกลงแม่บทเรื่องการอุดหนุนประมงจะเจรจาจบไปแล้วในการประชุม MC12 และกำลังอยู่ระหว่างรอให้ประเทศสมาชิกให้สัตยาบัน แต่ก็มีเรื่องที่กำหนดไว้ให้เจรจาต่อเพื่อให้ความตกลงสมบูรณ์ ประกอบด้วย 1) การอุดหนุนประมงที่เกินศักยภาพและเกินขนาด จะมีการจัดทำกฎเกณฑ์เพื่อห้ามการอุดหนุนที่ส่งผลให้เกิดการทำประมงที่เกินศักยภาพและเกินขนาด (overcapacity and overfishing)

ส่งผลให้ทรัพยากรสัตว์น้ำร่อยหรอ ซึ่งปัจจุบันมี 2 แนวทางหลักที่สมาชิกอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อห้ามการอุดหนุนดังกล่าว อาทิ (1) การกำหนดรายการของการอุดหนุนประเภทต่าง ๆ ที่ห้ามทำ (อาทิ การอุดหนุนในการสร้างเรือหรือการปรับปรุงเรือให้ทันสมัย การอุดหนุนค่าน้ำแข็งและน้ำมันเชื้อเพลิง และการอุดหนุนเงินรายได้แก่ผู้ประกอบการเรือหรือพนักงานที่ว่าจ้าง เป็นต้น)

และ (2) แนวทางผสม ที่ประกอบด้วยการกำหนดรายการอุดหนุนที่ห้ามทำ และข้อยกเว้นให้สมาชิกที่มีการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำที่ดียังคงสามารถให้การอุดหนุนต่อไปได้ เป็นต้น

2) การอุดหนุนประมงให้เรือที่ทำการประมงนอกน่านน้ำ จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์การห้ามอุดหนุนสำหรับการทำประมงนอกน่านน้ำ/ในเขตน่านน้ำไกล ซึ่งล้วนเป็นเรือที่มีศักยภาพในการทำประมง/จับสัตว์น้ำสูง และเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำร่อยหรอ

3) การปฏิบัติที่เป็นพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนา เกี่ยวกับการกำหนดความยืดหยุ่นให้กับประเทศสมาชิกกำลังพัฒนาและประเทศสมาชิกที่พัฒนาน้อยที่สุดจากการห้ามอุดหนุนประมงที่เกินศักยภาพและเกินขนาด

โดยมีหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างการหารือเพื่อให้มีความยืดหยุ่นที่เหมาะสมแก่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด อาทิ การยกเว้นสำหรับการทำประมงภายในเขต 200 ไมล์ทะเล การยกเว้นสมาชิกที่มีสัดส่วนการจับสัตว์น้ำไม่เกินเกณฑ์ขั้นต่ำ และการยกเว้นสำหรับประเทศสมาชิกที่พัฒนาน้อยที่สุด เป็นต้น

4) การทำประมงพื้นบ้าน จะมีการกำหนดข้อยกเว้นการห้ามอุดหนุนประมงที่เกินศักยภาพและเกินขนาด สำหรับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดในการทำประมงพื้นบ้าน/ประมงขนาดเล็ก ตามหลักเกณฑ์และพื้นที่ที่กำหนด

5) การแจ้งข้อมูลเรื่องการใช้แรงงานบังคับในเรือประมง : การกำหนดพันธกรณีด้านการแจ้งข้อมูลและความโปร่งใส โดยให้สมาชิกแจ้งรายชื่อเรือและผู้ประกอบการประมงที่สมาชิกมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่ามีการใช้แรงงานบังคับ

และ 6) การอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงในสาขาประมง การกำหนดพันธกรณีด้านการแจ้งข้อมูลและความโปร่งใส โดยให้สมาชิกแจ้งข้อมูลการอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ไม่เฉพาะเจาะจงสำหรับการทำประมง (เท่าที่สามารถจะแจ้งได้)

ซึ่งการเจรจาประมงดังกล่าวเป็นไปอย่างเข้มข้นและคาดหวังว่าจะเจรจาในสาระจบก่อนการประชุม MC13 ยกเว้นบางประเด็นที่อาจจะต้องให้ระดับการเมืองตัดสินใจ อาทิ การแจ้งข้อมูลเรื่องการใช้แรงงานบังคับในเรือประมง การห้ามการอุดหนุนการทำประมงนอกน่านน้ำ

และการกำหนดจำนวนตัวเลขที่ชัดเจนสำหรับข้อยกเว้นต่าง ๆ ของการห้ามการอุดหนุนประมง ซึ่งคาดว่า
จะเป็นประเด็นละเอียดอ่อนสำหรับประเทศสมาชิกบางส่วน และจะต้องรับการตัดสินใจในระดับนโยบายต่อไป

ชูการสร้างความมั่นคงทางอาหาร

อีกเรื่องหนึ่งที่นับได้ว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ “การเจรจาเรื่องการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร” ซึ่งนับแต่ช่วงโควิดมาจนถึงช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน เรื่องการขาดแคลนอาหารกลายเป็นความท้าทายสำคัญด้านการค้า

โดยเฉพาะประเทศที่ยังไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอสำหรับบริโภคภายในต้องพึ่งพาการนำเข้า หรือที่เรียกว่า ประเทศนำเข้าอาหารสุทธิ ประสบปัญหาเข้าไม่ถึงสินค้าเกษตรอาหารหรือสินค้าราคาแพงขึ้น

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้สมาชิก WTO หยิบยกเรื่องความมั่นคงทางอาหาร (food security) ขึ้นมาหารือตั้งแต่ปี 2565 จนทำให้มีข้อตัดสินใจของรัฐมนตรีที่กำหนดให้ดำเนินการเรื่องนี้ต่อเนื่อง โดยประเด็นหารือ เน้นเรื่องการอำนวยความสะดวกหรือลดอุปสรรคในการเข้าถึงสินค้าเกษตรอาหารของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs)

และประเทศกำลังพัฒนาที่นำเข้าอาหารสุทธิ การจัดสรรสินเชื่อนำเข้าสินค้าเกษตรจากองค์กรทางการเงิน/ธนาคารระหว่างประเทศ การช่วยเหลือการพัฒนาภาคเกษตรและอาหาร การประสานนโยบายขององค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกันมากขึ้น เป็นต้น

ทั้งนี้ การหารือเรื่องความมั่นคงทางอาหารมีขึ้นควบคู่ไปกับการเจรจาปฏิรูปเกษตรที่ดำเนินมาหลายปีแล้ว ซึ่งเน้นเรื่องการลดการอุดหนุนที่บิดเบือนการค้า การกำหนดแนวทางการใช้การอุดหนุนที่ไม่จำกัดมูลค่า การหารือเพื่อยกระดับความโปร่งใสในการใช้มาตรการห้ามหรือจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตร เป็นต้น

แต่การหารือในส่วนของการปฏิรูปกฎเกณฑ์ภาคเกษตรเป็นไปค่อนข้างช้า เพราะท่าทีที่แตกต่างกันมากของประเทศต่าง ๆ ที่หลายประเทศไม่ต้องการเปลี่ยนกฎเกณฑ์ปัจจุบัน

วางเกณฑ์ “อีคอมเมิร์ซ”

ขณะที่ประเด็นการเจรจาเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (เรื่อง e-Commerce) ซึ่งมีความสำคัญของการค้าขายหรือทำธุรกรรมผ่านระบบอีคอมเมิร์ซและระบบดิจิทัลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อของและอาหาร การจองโรงแรมที่พักออนไลน์ ไปจนถึงการโอนจ่ายเงินทางโทรศัพท์มือถือ การเจรจาเรื่องนี้จึงเป็นประโยชน์กับประเทศทุกระดับการพัฒนา

โดยในเวทีพหุภาคีมีการพิจารณาการต่ออายุการยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรของ electronic transmission และการเจรจาหัวข้อที่กำหนดแผนงานไว้ เช่น การพัฒนากับการค้าดิจิทัล ซึ่งสมาชิกที่เข้าร่วม มีเป้าหมายจัดทำกฎเกณฑ์ e-Commerce

เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การค้าโลกและบริบทสมัยใหม่ อาทิ เรื่องการไหลเวียนของข้อมูลข้ามพรมแดน (cross-border data flows) เรื่อง data localization เรื่องสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ การยืนยันตัวบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์และลายมืออิเล็กทรอนิกส์ และเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นประเด็นสำคัญต่อสภาพแวดล้อมของ e-Commerce และเป็นหัวข้อที่มีอยู่ใน FTA หลายฉบับ

ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศไม่ต้องการร่วมเจรจา เพราะเห็นว่ากฎระเบียบในประเทศตนยังไม่พร้อม

สิ่งแวดล้อมประเด็นใหม่

นอกจากเรื่องต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว ยังมีการเจรจาหัวข้ออื่นอีกที่สำคัญ เช่น การขยายขอบเขตการยกเว้นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไปยังผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทดสอบและรักษาโรคโควิด การหารือเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจในมุมการค้า และการเข้าเป็นสมาชิก WTO ของประเทศต่าง ๆ และต้องจับตามองว่าปีนี้อาจจะมีประเด็นเจรจาใหม่ที่สมาชิกให้ความสนใจ

อย่างเรื่องการค้ากับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ การทบทวนหลักเกณฑ์มาตรการอุดหนุนภาคอุตสาหกรรม ข้อยกเว้นด้านความมั่นคง และการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นต้น

ปฏิรูป WTO

สุดท้ายยังคงเป็นเรื่องการปฏิรูป WTO ท่ามกลางความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่กำลังเข้มข้น มีส่วนทำให้ต้องหารือเรื่องนี้

โดยแบ่งได้ 3 ส่วน คือ เรื่องกระบวนการระงับข้อพิพาท การปรับปรุงกระบวนการการทำงานและการเจรจา และการหารือเพื่ออัพเดตกฎเกณฑ์การค้าพหุภาคีให้ทันสมัย

อย่างไรก็ตาม เรื่องการปรับปรุงกระบวนการระงับข้อพิพาทของ WTO เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด แต่ก็ยากที่สุดเช่นกัน เพราะสหรัฐเป็นประเทศหลักที่มีความเห็นไม่ตรงกับประเทศต่าง ๆ และยังคัดค้านการแต่งตั้งคณะผู้อุทธรณ์ ทำให้การระงับข้อพิพาทแบบ 2 ชั้นของ WTO ต้องหยุดชะงักไปหลายปีแล้ว จากนี้ยังขึ้นอยู่กับการเมืองในวอชิงตันว่าจะแสดงความยืดหยุ่นมากน้อยเพียงใด