สถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา น้ำเหนือมีแนวโน้มลดลง เกษตรประสานผู้ว่าฯ 11 จว. ดูแล

สถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา น้ำเหนือมีแนวโน้มลดลง เกษตร ประสาน ผวจ. 11 จังหวัด ย้ำบริหารจัดการน้ำเน้นกักเก็บสำรองไว้ใช้ อุปโภค บริโภค ทวีศักดิ์ ล่าสุด รอง อธ.กรมชลประทาน ลงพื้นที่จ.อยุธยา ติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง

วันที่ 23 กันยายน 2556 กรมชลประทาน โดยศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) รายงานสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา วันนี้ (23 ก.ย.66 ) เวลา 13.00 น. ที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,248 ลบ.ม. (ลูกบาศก์เมตร)/วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 4.7 เมตร มีแนวโน้มลดลง ควบคุมการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่สถานี C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ในอัตรา 898 ลบ.ม./วินาที

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งระบบอย่างสอดคล้องกัน ด้วยการกักเก็บน้ำไว้ในพื้นที่ตอนบนให้มากที่สุด เพื่อสำรองไว้ใช้สำหรับอุปโภค บริโภค และรักษานิเวศ ส่วนตอนกลางจะใช้เขื่อนเจ้าพระยา ในการบริหารจัดการน้ำ โดยระบบชลประทานฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกรับน้ำเข้าไปเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุด ด้านตอนปลายจะเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล เพื่อไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน

               

ขณะเดียวกัน กรมชลประทานได้ประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้ง 11 จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย ให้รับทราบและติดตามสถานการณ์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิดแล้ว

โดยในวันเดียวกันนี้ ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง อ.ผักไห่ และบริเวณแม่น้ำน้อย อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมี นายวัชระ ไกรสัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 ผู้อำนวยการโครงการชลประทาน/โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาในพื้นที่ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม พร้อมบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ และลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณฝนตกเพิ่มในพื้นที่ตอนบนของประเทศ ซึ่งส่งผลดีต่อปริมาณน้ำในเขื่อน และน้ำท่า ประกอบกับในขณะนี้ใกล้เข้าสู่ปลายฝนของพื้นที่ทางตอนบนของประเทศ

กรมชลประทาน ได้ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง พร้อมนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำ ตามมาตรการรองรับฤดูฝนปี66 มาตรการที่ 9 เร่งพัฒนาและเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝน เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ ตามหนังสือขอความร่วมมือจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติอย่างเคร่งครัด

ด้วยการเร่งเก็บกักน้ำในระบบชลประทาน และแหล่งเก็บกักน้ำในชุมชนให้ได้มากที่สุด เพื่อสงวนน้ำไว้ใช้ในการอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ที่สำคัญได้ทำการประชาสัมพันธ์สร้างรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำและผลกระทบจากสภาวะเอลนีโญให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งรณรงค์ขอความร่วมมือเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ งดทำนาปีต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณน้ำที่เก็บกักดังกล่าวไม่เพียงพอ จึงสามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศได้เท่านั้น