
ศูนย์พยากรณ์ฯเผย ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายน 2566 อยู่ที่ 58.7 ดีขึ้นต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 2 และสูงสุดในรอบ 42 เดือน หลังการจัดตั้งรัฐบาล นโยบายลดค่าครองชีพออกมา แต่ยังกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอ
วันที่ 9 ตุลาคม 2566 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกันยายน 2566 อยู่ที่ระดับ 58.7 ปรับตัวดีขึ้นจากในเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 56.9 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และสูงสุดในรอบ 42 เดือน นับตั้งแต่มีนาคม 2563 เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และรัฐบาลจัดทำนโยบายลดค่าครองชีพ โดยลดค่าไฟฟ้าและน้ำมัน รวมถึงมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT

ขณะที่ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมกันยายน อยู่ที่ 53.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม ที่อยู่ที่ 51.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมอยู่ที่ระดับ 55.4 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 67.4 ซึ่งเป็นการปรับโดยตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ทุกรายการเมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาล
แต่ทั้งนี้ก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ รายได้ในอนาคต เพราะยังกังวลเรื่องสถานการณ์การเมือง ราคาพลังงาน ค่าของชีพ ตลอดจนเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยงและชะลอตัวและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและการจ้างงาน
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ระดับ 42.9 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ระดับ 66.3 ดัชนีความเชื่อมั่นที่กลับมาดีทุกรายการ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคดีขึ้นจากสถานการณ์การเมืองการจัดตั้งรัฐบาลและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เห็นเป็นรูปธรรม
ห่วงนโยบาย แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท
นายธนวรรธน์กล่าวอีกว่า นโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทของรัฐบาล หอการค้าไทย ได้ส่งสัญญาณว่า นโยบายดังกล่าวควรทำแบบเฉพาะกลุ่ม และอาจแบ่งการให้เงินเป็นงวด ครั้งละ 3-4 พันบาท ไม่ใช่การให้เพียงครั้งเดียว 1 หมื่นบาท
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีนักเศรษฐศาสตร์ยังออกมาคัดค้านนโยบายนี้ เพราะความกังวลว่าเม็ดเงินที่จะใช้ในการทำงบประมาณ 5-6 แสนล้านบาท จะคุ้มค่าต่อระบบเศรษฐกิจไหม อีกทั้งกังวลต่อเสถียรภาพทางการเงินและการคลังของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเงินเฟ้อ และหากนโยบายนี้จะต้องกู้เงินจากต่างประเทศ ก็จะเป็นตัวเร่งให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับสูงขึ้นได้อีก
อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลยังคงเดินหน้าที่จะทำนโยบายเงินดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาท ตามที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน ก็เชื่อว่าคงต้องมีการพิจารณาปรับรายละเอียดเงื่อนไข โดยเฉพาะการจำกัดพื้นที่การใช้จ่ายภายในรัศมี 4 กม.นั้น ก็ควรต้องขยายพื้นที่ให้กว้างขึ้น รวมทั้งอาจเพิ่มเงื่อนไขให้นำไปใช้จ่ายกับสินค้าที่มี local content ตลอดจนสินค้าที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือสร้างรายได้ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้เกิดเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจได้หลายรอบ และมีความคุ้มค่ามากขึ้น
“ถ้ากำหนดเงื่อนไขการใช้เงินกับสินค้าในชุมชนในพื้นที่ เงินก็จะหมุนได้หลายรอบ และคุ้มค่ามากขึ้น ให้คนไปซื้อของหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบอาชีพ แม้จะไม่ใช่เงินที่ไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ แต่ก็เป็นโครงสร้างพื้นฐานของครัวเรือน การวางนโยบาย ต้องคุ้มค่า เกิดประโยชน์ต่อประเทศ” นายธนวรรธน์กล่าว