อีไอซี วิเคราะห์คาดปิดอ่าวมาหยา กระทบรายได้ท่องเที่ยว จ.กระบี่ 6 เปอร์เซ็นต์

จากกรณีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชออกประกาศปิดอ่าวมาหยา ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ในช่วงวันที่ 1 มิถุนายน – 30 กันยายน 2018 รวมถึงจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวที่จะเข้าพื้นที่อ่าวมาหยาให้ไม่เกิน 2 พันคนต่อวัน หลังจากวันที่ 1 ตุลาคม 2018 เป็นต้นไป เพื่อดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรทางธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวนั้น

EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยวของ จ.กระบี่ราว 6% ในปี 2018 แม้ว่าทิวทัศน์ของอ่าวมาหยาจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสัญลักษณ์และมีชื่อเสียงของ จ.กระบี่ แต่ในปัจจุบันมีแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียงที่สามารถทดแทนได้และเป็นที่รู้จักในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เช่น เกาะปอดะ สระมรกต ทะเลแหวก หาดไร่เลย์ เป็นต้น ดังนั้น ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในสมมติฐานที่ไม่มีจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงที่ปิดอ่าวและมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพียง 2 พันคนต่อวันในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติลดจำนวนวันพักแรมเฉลี่ยใน จ.กระบี่ลง 1 วัน คาดว่าจะกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยวของ จ.กระบี่ในปี 2018 ราว 6% เท่านั้น

กรมอุทยานแห่งชาติฯ มีแนวโน้มจะดำเนินมาตรการเดียวกันกับอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งอื่น ๆ ในอนาคต ทั้งการจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวและการปิดพื้นที่บางส่วนในเขตอุทยานแห่งชาติฯ เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน และอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จ.พังงา ซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติจำนวนมาก สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเฉลี่ยปีละ 146% ในช่วงปี 2015-17 ทั้งนี้ ในอดีตกรมอุทยานแห่งชาติฯ เคยประกาศปิดเกาะยูง (อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่) ในปี 2015 และเกาะตาชัย (อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา) ในปี 2016 อย่างไม่มีกำหนดเนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติได้รับความเสียหายจากการท่องเที่ยวมาแล้ว

ทั้งนี้มาตรการควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์และรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยในระยะกลาง-ยาว เนื่องจากมาตรการดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อฟื้นฟูและจัดการแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในระยะยาว นอกจากนี้ การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจะช่วยให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ที่น่าประทับใจจากความความสงบที่ได้รับ นอกเหนือจากความสวยงามตามธรรมชาติ นำมาซึ่งภาพลักษณ์ที่ดีของการท่องเที่ยวในไทย

อย่างไรก็ตามภาคเอกชนและภาครัฐควรร่วมมือกันแก้ปัญหาการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแบบยั่งยืน เช่น ผู้ประกอบการนำเที่ยวอาจนำเสนอโปรแกรมท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับความนิยมมากนักเพื่อลดการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยว ซึ่งภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาและประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ เพิ่มเติม รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการท่องเที่ยว รวมถึงการใช้กลไกด้านราคาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ เช่น การปรับค่าเข้าอุทยานแห่งชาติที่ได้รับความนิยมให้สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยว เป็นต้น