หอการค้า ค้านกม.แรงงาน 3 ฉบับ รัฐเขียนสนองต่างชาติ – ประมงป่วนหนัก

คกก.แรงงาน-ประมง-หอการค้าติงร่างแก้กฎหมายแรงงาน 3 ฉบับ ทั้ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์-พ.ร.บ.แรงงานประมง-พ.ร.ก.การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว หวังสนองอนุสัญญา ILO แต่สถานประกอบการไทยปั่นป่วน-เรือประมงเก่าปรับตัวไม่ทัน

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน และคณะกรรมการธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ประชุมคณะกรรมการด้านแรงงานฯ เพื่อพิจารณาทบทวนเรื่องการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับด้านแรงงานและการประมง รวม 3 ฉบับ คือ การยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. …. พ.ร.บ.แรงงานประมง พ.ศ. …. และความคืบหน้าการเสนอปรับปรุงแก้ไข พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ซึ่งภาคเอกชนได้ให้ความเห็นในการปรับร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ต่อกระทรวงแรงงาน ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลไปแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะพิจารณาดำเนินการอย่างไร

“ยังยืนยันท่าทีเดียวกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ซึ่งมีความกังวลใจในการยกร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ เกี่ยวกับโครงสร้างการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งเปลี่ยนไปจากเดิม และ พ.ร.บ.แรงงานประมง ซึ่งยกร่างเพื่อให้สอดคล้อง อนุสัญญา 4188 อนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางทะเลทั้งหมด หากใช้เป็นมาตรฐานเกรงว่าอาจส่งผลกระทบทางปฏิบัติกับเรือประมงไทยปัจจุบันอยู่บ้าง เช่น ที่กำหนดว่าเรือนั้นจำเป็นต้องมีห้องน้ำ-เตียงนอน ซึ่งปัจจุบันเรือไทยที่เป็นเรือเก่าทำไม่ได้ หากเป็นเรือใหม่ก็ไม่เป็นไร เป็นต้น ควรให้มีความสอดคล้องกับทางการปฏิบัติมากกว่านี้ และอาจต้องให้ความรู้และอบรมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการปฏิบัติที่ถูกต้อง”

ส่วนข้อเสนอการแก้ไข พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ทางหอการค้าฯได้เสนอไปก่อนที่จะมีมติคณะรัฐมนตรี (6 มี.ค. 2561)

นายพจน์กล่าวถึงผลการดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวตามกรอบระยะเวลาใน พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่สิ้นสุดไปแล้วนั้น รับทราบจากทางกระทรวงแรงงานมีจำนวนแรงงานขึ้นทะเบียนกว่า 1.3 ล้านคน ยังเหลือประมาณ 50,000 คน ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน หลังจากนี้หากมีการดำเนินการจับกุมผู้ไม่ขึ้นทะเบียนก็ถือเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่ดูแล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ได้ดำเนินการอย่างถูกต้อง ขณะที่ทางสภาหอการค้าฯ สมาชิกก็ดำเนินการให้ถูกต้องเป็นหลักอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ทางภาคเอกชนก็แสดงความขอบคุณที่การดำเนินการของภาครัฐครั้งนี้ เป็นการดำเนินการที่ดีที่ได้มีการดำเนินการที่ถูกต้อง แต่ยังต้องดูแลให้ดี เนื่องจากแรงงานที่มาขึ้นทะเบียนนั้น เป็นกลุ่มแรงงานที่มีนายจ้างเป็นหลัก แต่ยังมีกลุ่มแรงงานที่ไม่มีนายจ้าง ซึ่งยังไม่ทราบว่ามีสัดส่วนมากน้อยเพียงใด เชื่อว่ายังมีอีกจำนวนมาก กระทรวงแรงงานที่ถือว่าเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลอาจจะต้องมีการหามาตรการเข้ามาดูแลจัดการส่วนนี้ด้วย

รายงานข่าวระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ แก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 เกี่ยวกับเสรีภาพในการสมาคมและคุ้มครองแรงงาน และฉบับที่ 98 เรื่องสิทธิการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง ซึ่งทางหอการค้าฯได้จัดประชุมรับฟังความเห็นสมาชิกเรื่องนี้ไปหลายครั้ง ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2561 สมาชิกประมาณ 76% ไม่เห็นด้วยกับการแก้ร่างกฎหมายนี้ (ตามตาราง) เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสถานประกอบการ หากมีการตั้งสหภาพและเสนอข้อเรียกร้องที่ยากต่อการปฏิบัติ ไทยจึงไม่ควรเขียนให้ผูกพันกับการรับรองอนุสัญญา อีกทั้งร่างนี้ไม่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ จึงไม่ควรนำมาประชาพิจารณ์ และการกำหนดบทลงโทษทางอาญาสูงเกินไป เทียบกับความผิดที่เกิดจากการพิพาทระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้าง ดังนั้น กระทรวงแรงงานควรรับฟังความเห็นจากนายจ้างและลูกจ้างอย่างรอบด้าน

ขณะที่ พ.ร.บ.แรงงานประมง เป็นกฎหมายที่จัดทำขึ้นเพื่อแยกความคุ้มครองกลุ่มแรงงานประมง ซึ่งมีความแตกต่างจากกลุ่มแรงงานทั่วไป โดยในกฎหมายนี้มี 68 มาตรา 10 หมวด (บททั่วไป/ความรับผิดชอบของเจ้าของเรือ ไต้ก๋ง และแรงงานประมง/ข้อกำหนดของการทำงานบนเรือ/เงื่อนไขการปฏิบัติงาน ที่พักอาศัย และอาหาร/การดูแลด้านสุขภาพประกันสังคม/คณะกรรมการแรงงานประมง/พนักงานเจ้าหน้าที่/การปฏิบัติ/บทลงโทษ) หากบังคับใช้จะกระทบต่อเรือประมงเก่าปรับตัวไม่ทันจำนวนมาก

ส่วนการแก้ไข พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ตามมติ ครม. 6 มี.ค. 2561 ให้แก้ไขมาตรา 101 และมาตรา 102 แต่ยังไม่เป็นไปตามข้อเสนอของภาคเอกชน เช่น ตามมาตรา 101 ครม.ให้ปรับแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาต 5,000-50,000 บาทต่อคน ไม่มีโทษจำคุก (เดิมจำคุก 5 ปี ปรับ 20,000-100,000 บาท) ทางเอกชนเสนอปรับอัตราเดียว 5,000 บาทต่อคน และยกเลิกโทษแต่ควรส่งกลับประเทศและห้ามกลับมาไทยอีกไม่น้อยกว่า 1 ปี และแก้ไขมาตรา 102 โทษนายจ้าง ปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท/แรงงาน 1 คน และหากทำผิดซ้ำ จำคุก 5 ปี ปรับ 50,000-200,000 บาท และห้ามจ้างแรงงานต่างด้าวต่อ 3 ปี (ปรับ 4-8 แสนบาทต่อแรงงาน 1 คน) ขณะที่เอกชนเสนอ 3 ระดับ (ตามตาราง)