“คณิศ” เสนอตัวคนกลาง หาที่เอ็กซอนฯ สร้างโรงงานปิโตร

“คณิศ” เปิดทางเอ็กซอนฯโดดคุย 3 เจ้าของพื้นที่ใน EEC ยันหากเข้าเงื่อนไขรัฐพร้อมเป็นตัวกลาง คาดได้ข้อสรุป 2 สัปดาห์ เมินเสียงขู่ กรศ.ไม่เพิ่มสิทธิประโยชน์พิเศษเอ็กซอนฯเกินกว่ารายอื่น

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (กรศ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่บริษัท เอ็กซอนโมบิล คอร์ปอเรชั่น บริษัทด้านพลังงานสัญชาติอเมริกันประกอบธุรกิจก๊าซธรรมชาติและน้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งมีแผนขยายการลงทุนโครงการปิโตรเคมีส่วนต่อขยายโรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่ กำลังการผลิต 1.74 แสนบาร์เรล/วัน มูลค่าการลงทุน 1.6-2 แสนล้านบาท โดยใช้พื้นที่ประมาณ 900ไร่ ในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) นั้น

ทาง กรศ.ได้ส่งทีมเพื่อเข้าไปสำรวจ 3 พื้นที่เป้าหมายเรียบร้อยแล้ว เพื่อทำการวิเคราะห์และประเมินถึงความเป็นไปได้ว่ามีมากน้อยขนาดไหน รวมถึงอุปสรรคและปัญหา ซึ่งการหาพื้นที่ลงทุนที่เหมาะสมนั้นจะเป็นการให้ทางบริษัทเอ็กซอนฯเป็นผู้เข้าไปหารือกับเจ้าของพื้นที่โดยตรงเอง ซึ่งประกอบด้วย 1.ท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา และ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารดูแลโดยรวมของการท่าเรือแห่งประเทศไทย 2.อู่ซ่อมเรือ พื้นที่ของบริษัท ยูนิไทยชิปยาร์ด แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด และ 3.พื้นที่ของกรมธนารักษ์ หากการเจรจาของทางบริษัท

เอ็กซอนฯและเจ้าของพื้นที่ไม่สำเร็จหรือหาแนวทางออกสำหรับพื้นที่ที่เหมาะสมไม่ได้ เพื่อลงทุนในโครงการปิโตรเคมีส่วนต่อขยายดังกล่าว ทาง กรศ.จะเป็นตัวกลางในฐานะภาครัฐช่วยเจรจาให้ในสเต็ปถัดไป

“อย่างพื้นที่ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังส่วนที่เป็นลานจอดรถนั้น เป็นพื้นที่เช่าของค่ายรถยนต์หลายยี่ห้อ ที่นำมาจอดเพื่อพักรถรอการขนส่งต่อไปดังนั้น จำเป็นต้องหารือกับเจ้าของพื้นที่เช่าส่วนนั้นก่อน อย่างไรก็ตามทางรัฐบาลได้เปิดโอกาสให้นักลงทุนทุกรายที่ต้องการใช้พื้นที่สำหรับขยายการลงทุนหรือลงทุนใหม่ในที่ดินที่อยู่ในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ได้ทำการหารือกับทางเจ้าของพื้นที่โดยตรงก่อน และ กรศ.จะคอยเป็นตัวกลางเจรจาให้”

ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทเอ็กซอนฯจะรายงานผลการหารือกับเจ้าของพื้นที่ตามแนวทางทั้ง 3 แนวทางต่อ กรศ.ภายในสัปดาห์หน้า

ปัจจุบันท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังเป็นพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมเบา เน้นด้านการขนส่งโลจิสติกส์ สำหรับการลงทุนเพื่ออุตสาหกรรมหนักอย่างปิโตรเคมีได้หรือไม่นั้น จำเป็นต้องนำกลับมาพิจารณาใหม่เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (กนศ.) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน เพื่อประกาศเป้าหมายและกำหนดเป็นเขตส่งเสริมพิเศษ

ซึ่งตามนโยบายรัฐได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า ในพื้นที่ EEC ส่วนที่ประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษ จะต้องเป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรมอยู่แล้ว และจะใช้เป็นพื้นที่ลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยจะไม่ใช้พื้นที่ใหม่หรือพื้นที่ที่ไม่ใช่เขตอุตสาหกรรม เพราะนั่นหมายถึงต้องหาทั้งพื้นที่ ทำความเข้าใจกับชุมชน ทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่ ซึ่งใช้เวลานาน 1-2 ปี รวมถึงในการพัฒนาพื้นที่อีก ซึ่งนานเกินไปกับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในขณะนี้

ต่อประเด็นที่เอกชนชี้ว่าหากไม่ได้ข้อสรุปในการเจรจาภายใน 2 เดือนอาจจะย้ายฐานการลงทุนออกไปนั้น นายคณิศระบุว่า ไม่สามารถประเมินได้ว่าจะเจรจาจบได้ภายใน 2 เดือนตามกรอบระยะเวลาที่บริษัทวางแผนไว้ได้หรือไม่ หากทางบริษัทเอ็กซอนฯไม่เข้าเงื่อนไขตามนโยบายการลงทุนของรัฐบาลไทย ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจและนโยบายของเอ็กซอนฯว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป อาจจะหาพื้นที่ที่เหมาะสมใหม่ หรืออาจจะย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศเวียดนามหรือจีนแทน

“ถ้าเงื่อนไขไม่ได้จริง ๆ เราคงไม่ได้มีมาตรการหรือสิทธิประโยชน์อะไรเพิ่มเติมให้อีก เพื่อมาจูงใจหรือไม่ให้ถอนการลงทุนจากประเทศไทยไป และเราจะใช้วิธีแบบนี้กับนักลงทุนรายอื่นเช่นกัน”

สำหรับมาตรการเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้สิทธิประโยชน์แก่อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) จะได้รับการยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคลตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน (ฉบับใหม่) ตั้งแต่ 8 ปี สูงสุด 13 ปี และรับการลดหย่อนภาษีรายได้นิติบุคคลธรรมดา 50% เพิ่มอีก 5 ปี สำหรับลงทุนในพื้นที่ EEC

ล่าสุดประเมินยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนไตรมาส 1/2561 สูงอย่างเห็นได้ชัดซึ่งยังรอการรายงานจากบีโอไอที่จะประชุมบอร์ดช่วงปลายเดือนเม.ย. คาดว่าเป็นผลจากการที่ พ.ร.บ. EEC ชัดเจนพร้อมประกาศใช้และความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน โครงการหลัก ๆ ที่รัฐเร่งเดินหน้าบวกกับการโรดโชว์