ลุ้น “อียู” ตรวจการบ้าน ความหวังปลดใบเหลือง IUU ?

คอลัมน์ แตกประเด็น
โดย มิติประชา


3 ปีในการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย (IUU) ในยุครัฐบาล คสช.มีความคืบหน้าไปไม่น้อย โดยเมื่อไม่กี่วันมานี้ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแต่งตั้ง “คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการประมงปลอดจากสัตว์น้ำและสินค้าประมงจากการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม” หรือฟรีไอยูยู โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อพิจารณาออกใบรับรองด้านการค้าสินค้าประมงต่าง ๆ เพื่อยกระดับการประมงของไทยให้มีมาตรฐานสากล ไทยย้ำว่าเป็นการทำเพื่อรักษาทรัพยากรทางทะเลและป้องกันการแก้ปัญหาการประมงที่ยั่งยืน ไม่ได้หวังผลเรื่องใบเหลือง

หันมามองความพยายามจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบแล้ว การแก้ปัญหาชาวประมงพื้นบ้านกับชาวประมงพาณิชย์ ยังแก้ไม่ตก ทั้งข้อเรียกร้องของชาวประมงพื้นบ้าน ให้แก้ไขนิยามประมงพื้นบ้าน ในมาตรา 5 และยกเลิกมาตรา 37 (ภายใต้ พ.ร.ก.การประมง 2558) เกี่ยวกับการห้ามผู้ได้รับอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง แต่กลุ่มประมงพาณิชย์มองมุมกลับ รังแต่จะทำให้ให้พื้นที่การทำประมงทับซ้อนกับเรือประมงพาณิชย์ รวมถึงจะบานปลายเกิดความขัดแย้งในกลุ่มผู้ประกอบการประมงทั่วประเทศ และเหมือนเป็นการเริ่มนับหนึ่งใหม่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น รมว.เกษตรฯได้ลงนามรับทุกข้อเสนอไปแล้ว ขอให้รอคำตอบอีกนิด

ระหว่างนี้ กรมประมงได้เสนอแนวทางการพัฒนา “ร่วมกัน” ก่อนว่าให้ ประมงไทยปลอดจากการทำประมงผิดกฎหมาย โดยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ เป็น 4 แนวทาง คือ 1.เรือประมง 2.คนงานบนเรือ 3.เครื่องมือการทำประมง และ 4.พื้นที่การทำประมง ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องดำเนินการให้ถูกกฎหมาย รวมถึงกำหนดรายละเอียดว่าท่าเรือที่เป็นเรือไทย การนำปลาจับได้มาขึ้นที่ท่าเรือ ต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ ครบถ้วนตามมาตรการที่กำหนด เช่น การรายงานการเข้า-ออก (PIPO) 22 แห่ง

พร้อมกับบอกว่าสามารถทำได้ทันทีเพราะมีกฎหมายกำกับอยู่ แต่สัตว์น้ำและสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ “รัฐที่เป็นเจ้าของท่าเรือจะต้องดูแลเรือที่มีสัญชาติตามประเทศนั้น ๆ ให้ปฏิบัติตามกฎกติกาของรัฐเจ้าของท่า”

ทั้งหมดนี้ ล้วนแต่มีผลต่อการพิจารณา ในห้วงระหว่าง 4-15 เม.ย.นี้ ที่คณะผู้แทนจากสหภาพยุโรป (EU) เดินทางมาตรวจประเมินการแก้ไขปัญหา IUU โดยมี 6 ประเด็นที่ต้องรายงาน อาทิ 1.การตรวจสอบย้อนกลับ 2.กฎระเบียบและประกาศกรมเจ้าท่า 3.การบังคับใช้กฎหมายและมาตรการทางปกครอง 4.ความคืบหน้าผลการสำรวจกองเรือ 5.การติดตาม ควบคุมและเฝ้าระวัง และ 6.การบังคับใช้กฎหมายและการลงโทษ

ดูเหมือนว่าจะมาถูกทาง เพราะหลายหน่วยงานบูรณาการกันเต็มกำลัง แต่จะทำให้ไทยหลุดสถานะใบเหลืองหรือไม่ยังเป็นความกดดันของรัฐบาล และในอีกไม่กี่เดือนก็จะเข้าสู่ช่วงการทบทวนสถานะประเทศที่ใช้แรงงาน Tier2 watch list ซึ่งเป็นโจทย์ต่อไปของรัฐบาลเช่นกัน