รัสเซียบุกตะวันออก (2) เปิดตลาดค้าขายกับเอเชีย-แปซิฟิก

โดย ชวิต กิติญาณทรัพย์

“สวัสดีคร้าบ” ชาวรัสเซียกล่าวทักทายพวกเราด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ตอนได้ยินครั้งแรกรู้สึก “เฉย ๆ” แต่ต้องประหลาดใจมาก ๆ เพราะตลอดหนึ่งสัปดาห์ที่ร่วมขบวนไปรัสเซียกับคณะ

ผู้บริหาร ปตท. คุณปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ คุณเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท. ไปเยือนเมืองมอสโก และเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก คนรัสเซียทักทายเป็นภาษาไทยพร้อมบอกเล่าประสบการณ์การมาเที่ยวเมืองไทยกันตรึม

“คนรัสเซียประมาณครึ่งหนึ่งเคยมาเมืองไทยแล้ว” คุณนพพร ชูจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ ปตท.เฉลยให้ฟัง แต่ลืมถามว่าครึ่งหนึ่งเป็นชาวรัสเซียทั้งหมดหรือเฉพาะชาวมอสโก

ไทยกับรัสเซียมีสายสัมพันธ์ทางการทูตมาอย่างยาวนาน ทั้งใกล้ชิดและลึกซึ้งตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาเว้นว่างหลังเหตุการณ์ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบสังคมนิยม แต่กลับมาสานสัมพันธ์กันอีกครั้งช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และคราใดที่พระบรมวงศานุวงศ์

ระดับสูงเสด็จเยือนรัสเซีย รวมทั้งผู้นำรัฐบาลทั้งสองประเทศแลกเปลี่ยนไปเยือนซึ่งกันและกัน ครานั้นจะช่วยละลายกำแพงน้ำแข็งที่ขวางกั้นไว้ จนกระทั่งมีการจัดตั้งกลไกการตัดสินใจระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศเพื่อหารือในปัญหายุทธศาสตร์ที่สำคัญ

นพพร ชูจินดา

ความร่วมมือด้านพลังงาน โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานของไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญประการหนึ่งที่รัสเซียและไทยให้ความสนใจ ความสำคัญของรัสเซียในฐานะที่เป็นผู้ผลิตปิโตรเลียมที่อยู่นอกกลุ่มโอเปกนั้นถือว่ามีบทบาทและอิทธิพลสูงในตลาดน้ำมันดิบ เนื่องมาจากส่งออกน้ำมันดิบสูงสุดของโลก และผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นอันดับ 2 รองจากอิหร่าน อีกทั้งรัสเซียมีกลไกการค้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในรูปแบบบริษัทเอกชน โดยที่มีรัฐบาลจะถือหุ้นใหญ่เป็นผู้กำหนดนโยบายและทิศทาง แต่ให้อิสระในการบริหารงานรวมทั้งเปิดโอกาสให้นักลงทุนจากในประเทศและต่างประเทศร่วมทุนด้วย เช่น บริติชปิโตรเลียมของอังกฤษ เป็นต้น

ตามข้อมูลของ ปตท. บริษัทน้ำมันและก๊าซของรัสเซีย 5 อันดับสูงสุด ประกอบด้วย ด้านน้ำมัน (นับทั้งแหล่งสำรองและกำลังการผลิต เรียงตามลำดับ) Rosneft, Lukoil, Gazpromneft ,Gazprom และ Surgutneftgas ด้านก๊าซธรรมชาติ Gazprom, Rosneft,Novatek Gaspromneft และ Lukoil

ท่ามกลางบรรยายกาศที่หนาวเหน็บระดับติดลบ การสนทนากับผู้บริหารบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่เปรียบเสมือน ปตท.ของรัสเซีย ได้ข้อมูลที่น่าสนใจอย่างยิ่ง นาย Didier Casimiro vice president for refining, petrochemi-cal, commerce and logistics ของ Rosneft เล่าว่า

“Rosneft มีแหล่งปิโตรเลียมที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลมากเป็นอันดับต้น และมีกำลังการผลิต hydrocarbon สูงถึง 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน มีโรงกลั่นขนาด 2.5 KBD และมีสถานีบริการทั่วโลก3,000 แห่ง ต้นทุนการผลิตของเราต่ำที่สุดในโลก อาจจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึง 3 เท่า เนื่องจากรัฐบาลมีการเก็บภาษีตามการขึ้นลงของน้ำมัน”

“โครงสร้างการถือหุ้นของ Rosneft เปิดโอกาสให้มีการเรียนรู้จากต่างประเทศในเรื่องการยกระดับมาตรฐาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นต้น รวมทั้งประเทศที่ Rosneft เข้าไปดำเนินธุรกิจจะเปิดโอกาสให้ประธานกรรมการเป็นต่างชาติเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับประเทศนั้น”

นัยดังกล่าวหมายถึง รัสเซียอยากได้ “มืออาชีพ” จากต่างประเทศเข้าไปช่วยบริหารเพื่อผลักดันให้กิจการเติบโตเร็วขึ้นกว่าปัจจุบันนอกเหนือจากเงินลงทุนและเทคโนโลยีที่รัสเซียไม่มี

ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ Rosneft ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2561 ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Rosneft คือ JSC Rosnoftgaz ถือหุ้นมากกว่า 50% (บริษัทนี้รัฐบาลถือหุ้น 100%) National Settlement Depository 10.37% (บริษัทนี้มี BP Russian Investment ถือหุ้นด้วย) และ Russian Federation 0.01%

“การลงทุนในต่างประเทศมีดังนี้ ปี 2016 ได้ซื้อกิจการโรงกลั่นและสถานีบริการที่อินเดีย ลงทุนแหล่งปิโตรเลียมอียิปต์ โรงกลั่นในเยอรมนี กำลังศึกษาการสร้างโรงกลั่นที่ดูบัน ประเทศอินโดนีเซียและร่วมทุนกับ CNPC ของจีนในการสร้างโรงกลั่นที่จีน เพราะการสร้างพันธมิตรกับประเทศต่าง ๆ มีความจำเป็นด้วยเหตุผลทางการเมืองและการตลาด อีกทั้งสร้างรายได้จากการลงทุน”

คำกล่าว “เหตุผลทางการเมือง” นั้นน่าจะหมายถึง นโยบายคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งทำให้รัสเซียต้องปรับตัวโดยลดการพึ่งพาสินค้าจากต่างประเทศแล้วหันมาผลิตเอง จนกระทั่งปัจจุบันนี้สามารถส่งออกข้าวสาลี เป็นต้น รวมทั้งปรับทิศทางมาลงทุนขุดเจาะสำรวจแคว้นไซบีเรียตะวันออก และค้าขายปิโตรเลียมกับประเทศเอเชีย-แปซิฟิก จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ผ่านเมืองท่าวลาดิวอสต๊อก

คุณนพพรให้ข้อมูลเสริม “รัสเซียเข้ามาปักหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงเฉียงใต้นานแล้ว โดยมาลงทุนขุดเจาะสำรวจและสร้างโรงกลั่นน้ำมันที่เวียดนาม ในฐานะที่รัสเซียเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิด พม่าเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เขาสนใจ”

“การดำเนินตามนโยบายรัฐบาลพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมนอกชายฝั่ง โดยเฉพาะพื้นที่ Arctic หรือในทะเล Kera ทั้งนี้ผลกระทบจากการคว่ำบาตรของสหรัฐ ไม่ได้มีผลโดยตรงกับการเพิ่มกำลังการผลิต เนื่องจากแหล่งผลิตบนชายฝั่งไม่อยู่ในเงื่อนไขการคว่ำบาตร มีแต่การสนับสนุนทางการเงินเท่านั้นที่ Rosneft ต้องปรับตัว และทำงานร่วมกับธนาคาร” นาย Didier Casimiro กล่าวและย้ำว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านส่งออกไปเอเชียถึง 140%

จบการสนทนาจาก Rosneft คณะผู้บริหาร ปตท.พร้อมกับคุณเทพชัย หย่อง ซึ่งเป็นตัวแทนสื่อมวลชน ร่วมพบปะสนทนากับผู้บริหารของ Federal Antimonopoly Service (FAS) ได้ความสรุปดังนี้ FAS เป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งโดยคำสั่งประธานาธิบดีรัสเซียเมื่อปี 2547 เพื่อทำให้เกิดการแข่งขันโดยเสรี และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการผลิตสินค้าและบริการด้วยราคาที่เหมาะสม ไม่มีการผูกขาดรวมทั้งปกป้องผู้ผลิตรายเล็กไม่ให้ถูกรายใหญ่กีดกันออกจากตลาด

เป็นหน่วยงานดูแลและบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดทุกสินค้าและบริการ โดยเฉพาะภาคส่วนที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ การค้าน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง การกำหนดราคาน้ำมันใช้ดัชนี 3 ตัว คือ 1.ดัชนีราคาสินค้า 2.ดัชนีการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และ 3.ดัชนีราคาน้ำมันตลาดโลก โดยอ้างอิงราคาจากตลาดรอตเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ และตลาดสิงคโปร์

เปิดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการออกกฎระเบียบผ่านวิธีต่าง ๆ เช่น การออก tariff ต้องได้รับการยอมรับจากองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคก่อน เวลาออกกฎหมายต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น ฯลฯ

“ปตท.กับ Rosneft ได้ลงนาม MOU ซื้อขายน้ำมันและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี” คุณนพพรเล่า และเผยว่า “น้ำมันดิบรัสเซียเหมาะกับโรงกลั่นของไทย แต่ติดขัดปัญหาค่าขนส่ง ถ้า ปตท.จะซื้อ ราคาต้องแข่งขันกับตะวันออกกลางได้”

เสร็จสิ้นภารกิจติวเข้มจากทีมงานรัสเซีย คุณเทวินทร์กล่าวในช่วงท้ายก่อนการเดินทางกลับบ้านกลับมารับ
ไอร้อน “ที่ผ่านมา ปตท.ไม่เข้าใจรัสเซีย ไม่เข้าใจภาษา แล้วยังอยู่ห่างไกลมาก ทั้งไกล ทั้งหนาว สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคสำคัญ แต่ ปตท.ต้องก้าวข้ามให้ได้ ทริปนี้ ปตท.สผ.ฟังแล้วอยากมาลงทุน เพราะมองเห็นถึงความเป็นไปได้”

“มาครั้งนี้มาเปิดประตู มาสร้างความเข้าใจ รัสเซียชอบมาก เพราะเป็นการคุยตรง เขารู้จักประเทศไทยเยอะมาก ข่าวกรองเขาดีมาก ไทยมีโอกาสเป็น regional partner เพื่อการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

“ปตท.จะส่งคนมาคุยกับรัสเซีย เช่นเดียวกันรัสเซียเขาอยากไปดูตลาดปลายน้ำ (ปิโตรเคมี) ของไทย”

“ทุกอย่างต้องเริ่มที่ค้าขาย รอให้รัสเซียพัฒนาคลังและสาธารณูปโภคท่าเรือวลาดิวอสต๊อกเสร็จเรียบร้อยเชื่อว่าความชัดเจนในเรื่องการค้าจะดีขึ้น” คุณเทวินทร์ทิ้งท้ายไว้ด้วยความรัดกุมอย่างยิ่ง

 

คลิกอ่าน >>> ตอนที่ 1 รัสเซียบุกตะวันออก เปิดตลาดค้าขายกับเอเชีย-แปซิฟิก