“สนธิรัตน์” เตรียมมาตรการเชิงรุก-ตั้งรับสงครามการค้า ปลัดพาณิชย์บินไปสหรัฐถก TIFA ขอเว้นมาตรการ 232 กับไทย

“สนธิรัตน์” เตรียมมาตรการเชิงรุกและตั้งรับสงครามการค้า ปลัดพาณิชย์บินไปสหรัฐถก TIFA ขอเว้นมาตรการ 232 กับไทย เล็งชิงส่วนแบ่งตลาด 1,400 ล้านเหรียญ จากการที่สหรัฐและจีนตั้งกำแพงภาษีสินค้าใส่กัน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมแผนเชิงรุกและตั้งรับกรณีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่มีการตอบโต้มาตรการทางการค้าระหว่างกัน โดยในเชิงรุกขณะนี้นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และคณะประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐหลายกระทรวง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางไปสหรัฐ เพื่อร่วมประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบการค้าและการลงทุน (TIFA) ไทย-สหรัฐ ซึ่งจะมีประเด็นในการหารือ โดยเฉพาะการขอยกเว้นกฎหมาย Trade Expansion Act of 1962 มาตรา 232 ที่สหรัฐเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมจากทั่วโลกในอัตรา 25% และ 10% ตามลำดับ ซึ่งจะขอให้ยกเว้นการใช้มาตรการกับไทย

“การเดินทางไปสหรัฐครั้งนี้ ถือเป็นการทำงานเชิงรุกที่ไทยจะคุยกับสหรัฐเรื่องมาตรการทางการค้าต่างๆ โดยเฉพาะเหล็กและอะลูมิเนียม ที่สหรัฐใช้มาตรการเก็บภาษีไปแล้ว ซึ่งผมอยากให้มองในแง่บวกว่าไทยจะเจรจาสำเร็จกลับมา แต่สหรัฐจะมีการถกเพื่อแลกเปลี่ยนอะไรกับไทยหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นการนำเข้าเนื้อหมู ตัวแทนฝ่ายไทยคือกระทรวงเกษตรฯจะทำหน้าที่เจรจาในส่วนนี้ และการเจรจารอบนี้ อาจยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งถ้ายืดเยื้อผมก็พร้อมที่จะเดินทางไปร่วมประชุมในคราวต่อๆไป” นายสนธิรัตน์ กล่าว

สำหรับมาตรการตั้งรับของไทย โดยไทยได้มีการศึกษาผลกระทบจากการใช้มาตรการของสหรัฐที่ดำเนินการออกมา รวมทั้งการศึกษามาตรการที่จีนใช้ดำเนินการกับสหรัฐ พบว่ามีทั้งผลกระทบทั้งในเชิงบวกและลบ โดยในแง่บวกมีโอกาสที่ไทยจะใช้ช่องว่างส่งออกสินค้าไปขายทั้งสหรัฐและจีน เบื้องต้นได้ศึกษาผลกระทบจากการที่สหรัฐใช้มาตรการภาษีกับสินค้าของจีน โดยจีนไม่สามารถส่งสินค้ามาขายยังสหรัฐได้ คาดว่ามูลค่าที่ไทยจะส่งออกไปสหรัฐแทนสินค้าจีนประมาณ 300-1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ สินค้าของสหรัฐที่ส่งออกมาจีน แต่ถูกจีนใช้มาตรการภาษีจะมีมูลค่าส่วนแบ่งตลาดประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตรงส่วนนี้ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ทำงานเชิงลึกในการหาโอกาสส่งออกสินค้าที่สหรัฐและจีนมีการใช้มาตรการภาษีตอบโต้กัน โดยไทยจะส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปทั้งตลาดสหรัฐและจีน

“เท่าที่ประเมินสินค้าที่จีนได้ใช้มาตรการภาษีกับสินค้าสหรัฐ และคาดว่าไทยจะได้รับประโยชน์ในการเจาะตลาดเหล่านี้ส่งออกไปจีนแทนสหรัฐ เช่น สินค้าผลไม้สดและแปรรูป ซึ่งจะมีการเจาะตลาดทั้งเมืองหลักเมืองรองของจีน ส่วนเนื้อหมูที่จีนใช้มาตรการภาษีกับเนื้อหมูของสหรัฐนั้น อาจจะต้องเจรจากับจีนในเรื่องของกฎระเบียบการนำเข้าเนื้อหมูต่อไป โดยทั้งหมดจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาสินค้าที่ไทยจะได้รับประโยชน์เชิงลึกเป็นไลน์โปรดักส์จากทั้งสหรัฐและจีน ซึ่งรวมๆส่วนแบ่งตลาดที่ทั้งสองประเทศใช้มาตรการภาษีมีมูลค่าประมาณ 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ” นายสนธิรัตน์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังได้มีการประเมินผลกระทบจากการที่สินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมของไทยถูกสหรัฐเก็บภาษีสินค้า พบว่าไทยส่งออกสินค้าดังกล่าวไปสหรัฐประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่หากพิจารณาข้อมูลเชิงลึกพบว่าในการส่งออกสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม เป็นการส่งออกสินค้าท่อเหล็กเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสินค้าดังกล่าวไทยมีศักยภาพ จึงได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชยทำแผนที่จะรักษาขีดความสามารถของการส่งออกท่อเหล็กไทยไปยังสหรัฐ

ด้านสินค้ากลุ่มห่วงโซ่การผลิตที่ไทยส่งออกไปจีนเพื่อผลิตสินค้าสำเร็จรูปส่งออกไปยังสหรัฐ ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการที่สหรัฐเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเทคโนโลยี ตามมาตรา 301 กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ เนื่องจากสหรัฐกล่าวหาจีนไม่มีการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญานั้น เบื้องต้นประเมินว่าจะมีสินค้าประมาณ 50 รายการของไทยได้รับผลกระทบ มูลค่าประมาณ 19 ล้านเหรียญสหรัฐ เช่น คอมพิวเตอร์ ส่วนประกอบโทรศัพท์มือถือ ฮาร์ทดิส โดยไทยจะทำการส่งออกสินค้าห่วงโซ่การผลิตให้กับสหรัฐทดแทนตลาดจีน

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลว่าเมื่อสหรัฐและจีนตั้งกำแพงภาษีระหว่างกัน และสินค้าส่วนเกินจะถูกดัมพ์ราคาส่งออกไปยังประเทศทั่วโลก รวมทั้งไทยนั้น ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เตรียมมาตรการในการปกป้องสินค้าจากทั้งสองประเทศที่จะทะลักเข้าไทย ซึ่งมีทั้งมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) ไว้แล้ว และยังได้ให้ศึกษาการเตรียมความพร้อมกรณีที่สหรัฐมีการใช้มาตรการเข้มงวดและกดดันไทย ซึ่งไทยก็จะตอบโต้ด้วยการนำเข้าสู่การพิจารณาขององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ไว้ด้วย

“ภาพรวมของการส่งออกไทยปีนี้ ยังยืนยันเป้าหมายเติบโตไว้ที่ 8% เชื่อว่าไทยจะยังรักษาโมเมนตันการส่งออกนี้ได้อยู่ แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด” นายสนธิรัตน์ กล่าว

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า สิ่งที่กังวลของสงครามการค้าสหรัฐ คือความผันผวนของค่าเงินและเศรษฐกิจโลกเกิดความไม่มีเสถียรภาพจนกระทบต่อการส่งออกไทย